หลักสูตรใหม่น่าเรียน ม.รังสิต เปิดสาขา “วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา”

คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา มุ่งสร้างนักวิทยาศาสตร์การกีฬาแนวใหม่ ช่วยฟื้นฟูนักกีฬาที่ได้รับการบาดเจ็บทางการกีฬาหรือหลังผ่าตัดจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาให้สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ใหม่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยศาสตร์ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟู สารอาหารเพื่อการรักษา เทคนิคการโค้ช รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานบริการชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา เป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดในปีการศึกษา 1/2565 โดยหลักสูตรนี้ไม่ใช่วิชาชีพทางการแพทย์ แต่เป็นอาชีพใหม่ในวงการกีฬา โดยมีเป้าหมายคือมุ่งผลิตบุคลากรสายอาชีพเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของนักกีฬาโดยเฉพาะ ซึ่งทำหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เน้นฟื้นฟูสมรรถนะทางการกีฬาที่เรียกว่า Sports Rehabilitation 

ประเทศไทยเรื่องกีฬาถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการวิ่ง การปั่นจักรยาน การแข่งขันทางการกีฬา หรือแม้แต่ฟุตบอลก็สามารถเล่นเป็นอาชีพได้ ซึ่งในปัจจุบันนักกีฬาอาชีพกำลังได้รับความนิยมและเป็นอาชีพเด็ก ๆ ใฝ่ฝัน ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่มีระบบการพัฒนานักกีฬาที่สมบูรณ์แบบครบวงจร จะมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็น Rehab Coach ซึ่งเป็นโค้ชที่ทำหน้าเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟู ในมหาวิทยาลัยรังสิตเราจะใช้เป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับแพทย์ นักกายภาพบำบัด และทีมสนุบสนุนในทีม Sports Rehabilitation ซึ่งอยู่ในหลักสูตรชื่อ วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา) 

“อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเนื้อหาการเรียนการสอนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะทางการกีฬาในประเทศไทย เป็นเพียงองค์ความรู้แขนงหนึ่งในวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science) และหลักสูตรปริญญาโทที่เน้นการทำวิจัยเท่านั้น แต่ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต เราออกแบบหลักสูตรที่เน้นการทำงานร่วมกันตามความเชี่ยวชาญในมิติด้านเวชศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะสามารถออกแบบการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้ว นักศึกษายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) สรีรวิทยา การผ่าตัดและการรักษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางการกีฬา สามารถใช้เครื่องมือทดสอบสมรรถภาพทางกายตามชนิดและประเภทของกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับสากล เช่น เครื่องทดสอบกำลังกล้ามเนื้อ เครื่องวิเคราะห์การเคลื่อนไหว เครื่องทดสอบสมรรถภาพทางหัวใจและปอด เป็นต้น รวมไปถึงแปลผลและวิเคราะห์ผลการทดสอบได้ สามารถทำงานใกล้ชิดกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราจึงผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และความรู้ทางด้านการแพทย์ ทำหน้าที่ในงาน Sports Rehabilitation หรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เน้นทักษะการฟื้นฟูทางการกีฬา ซึ่งหลักสูตรนี้ออกแบบให้คนกลุ่มนี้เป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นโค้ชทางการกีฬา โดยเฉพาะการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูที่มีการบาดเจ็บจากการกีฬาโดยเฉพาะ จึงเป็นที่มาของการเปิดหลักสูตรดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ คณะกายภาพบำบัดฯ ได้ออกแบบให้หลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา และหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์ สองหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรดับเบิ้ล ดีกรี (Double Degree) คู่กัน หมายความว่าคนที่เรียนหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์แล้ว หากต้องการที่จะได้อีกปริญญาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา เขาสามารถเรียนเพิ่มอีก 9 หน่วยกิต ก็จะได้หลักสูตร 2 ปริญญาใน 4 ปี หรือ 4 ปีครึ่ง โดยต้องมีการวางแผนการศึกษาไว้ตั้งแต่ต้นปี นั่นหมายความว่าเขาจะเป็นนักชรัณสุขศาสตร์ และมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา ฉะนั้น เราถึงเห็นธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ฟิตเนสสำหรับผู้สูงอายุ กีฬาสำหรับผู้สูงอายุ และการฟื้นฟูการบาดเจ็บทางกีฬาในผู้สูงอายุ นี่คืออาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นได้จากการที่เขาเรียน Combine แบบนี้ ในขณะเดียวกันคนที่เรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา และเรียนเพิ่มอีก 9 หน่วยกิต 4 ปี ก็จะได้ปริญญาในหลักสูตรชรัณสุขศาสตร์ไปด้วย หมายความว่าเมื่อจบหลักสูตรแล้วก็สามารถที่จะไปเปิดฟิตเนส หรือฟิตเนสสำหรับผู้สูงอายุได้เหมือนกัน และนี่คือการเกิดงานใหม่หรืออาชีพใหม่ที่จะตอบโจทย์สังคมในอนาคตข้างหน้า” คณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ กล่าวเสริม

หลักสูตรวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต โทร. 0-2791-6000 ต่อ 1453 หรือ ฝ่ายแนะแนวและรับนักศึกษา โทร. 0-2791-5500-10

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *