กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชี้ปัญหาประชากรวัยแรงงานไทยขาดทักษะจำเป็น เดินหน้าบิ๊กร็อค 1 ขับเคลื่อนโครงการ “Adult Skills Assessment” หวังลดการว่างงานในกลุ่มอายุ 15-24 ปี

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งเครื่องผลักดันโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานไทย (Adult Skills Assessment) ตอบโจทย์เป้าหมายการสนับสนุนทักษะวัยแรงงานตามแผนปฏิรูปการศึกษา บิ๊กร็อคที่ 1 ของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านการศึกษา หลังสถิติที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 15 -24 ปี มีอัตราการว่างงานกว่า ร้อยละ 18.09 สะท้อนปัญหาการขาดทักษะพื้นฐานในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า ทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในปัจจุบันคือทักษะด้านดิจิทัล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการลงพื้นที่สำรวจทักษะครอบคลุมทั้งด้านการอ่าน การคำนวณเบื้องต้น ทักษะอารมณ์สังคม รวมถึงลักษณะภูมิหลังของประชากรวัยแรงงานทั่วประเทศ โดยคาดว่าผลการสำรวจที่ได้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของภาคนโยบาย รวมทั้งภาคเอกชนและนักลงทุนในการส่งเสริมทักษะที่จำเป็น เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายของการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ คือการที่ประชากรวัยแรงงานมีทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกยุคใหม่ เนื่องจากวัยแรงงานคือกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติยั่งยืน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงได้กำหนดกรอบนโยบาย เรื่อง การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงการสนับสนุนทักษะของวัยแรงงาน (Big Rock 1) ด้วยการพัฒนาเครื่องมือการประเมินศักยภาพของประชากรกลุ่มวัยแรงงาน ผ่านการดำเนินโครงการ “วิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย” (Adult Skills Assessment in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

โดยโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการสำรวจทักษะความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานแบบรายครัวเรือน ในช่วงอายุ 15 – 64 ปี จำนวนกว่า 9,000 คน ใน 45 จังหวัด ครอบคลุม 6 ภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ที่มีทักษะต่ำ และบุคคลด้อยโอกาสในตลาดแรงงาน ซึ่งขอบเขตการศึกษาของชุดทดสอบวัดทักษะแรงงานนี้ ประกอบด้วย 1. ทักษะด้านการอ่าน การใช้ข้อมูลข่าวสารที่พบจากแหล่งต่างๆ 2. ทักษะทางอารมณ์และสังคม ความรู้สึก พฤติกรรม ความรับผิดชอบ และ 3. ข้อมูลลักษณะภูมิหลังของประชากร ระดับการศึกษา สถานะครอบครัว อาชีพ รวมถึงผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ การสำรวจดังกล่าวยังมุ่งศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการตลาดแรงงานในอนาคตจากมุมมองด้านทักษะแรงงาน เพื่อศึกษาว่ามีทักษะซึ่งเป็นความจำเป็นที่ตลาดต้องการ โดยการสำรวจลงพื้นที่จริงมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 – เดือนมีนาคม 2565

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยยังมีประชากรวัยแรงงานอีกจำนวนมากที่ขาดทักษะและความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการขาดโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า อัตราการว่างงานของแรงงานในช่วงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ร้อยละ 8.35 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหากลุ่มวัยแรงงานที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผลการสำรวจภาคธุรกิจของไทย (WEF, 2020) พบว่า ทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในยุคปัจจุบัน คือทักษะทางด้านเทคนิคดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากดิจิทัลดิสรัปชันในโลกยุคใหม่ เช่น การเขียนและออกแบบ การพัฒนาโปรแกรม การควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต ได้แก่ ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการเรียนรู้เชิงรุก ทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่แรงงานไทยต้องได้รับการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวจะสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลที่ช่วยระบุกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ไม่ได้ทำงานหรือขาดทักษะในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือให้กลุ่มแรงงานนั้นได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป อีกทั้งยังทำให้ประเทศไทยมีผลสำรวจและระบบสารสนเทศด้านทักษะประชากรวัยแรงงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยชี้เป้าและสะท้อนทิศทางให้ภาคนโยบายได้มองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงว่าควรปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาไปในทิศทางใด เพื่อกำหนดกรอบนโยบายในการส่งเสริมและเติมเต็มทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของแรงงานทุกช่วงวัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต “ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและนักลงทุนในการเข้าถึงข้อมูลสมรรถนะแรงงานที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน และสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งการวางแผนฝึกอบรมทักษะความรู้ในด้านต่างๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรของตนเอง นับเป็นการเปิดโอกาสในการศึกษาต่อและเปิดกว้างการทำงาน สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *