เอ็นไอเอ – กกพ. เปิดวาร์ป 5 ว่าที่นวัตกรผู้สร้างโลก กับการคืนชีพขยะให้มีมูลค่า ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า

เสร็จสิ้นกันไปแล้วสำหรับการค้นหาเยาวชนคนเก่งจากโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในการเฟ้นหาเด็กและเยาวชน ผู้ที่จะมาเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ ในการผลักดันสร้างอนาคตการจัดการขยะสู่การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และวันนี้นับเป็นฤกษ์งามยามดี จะพาไปดูไอเดียสุดเจ๋งของ 5 ว่าที่นวัตกรผู้สร้างโลก กับการคืนชีพขยะให้มีมูลค่าว่า การนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับการจัดการปัญหาขยะจะออกมาเป็นผลงานอย่างไรบ้าง ไม่รอช้า ไปดูกันเลย!!

ทีม Heavycrazywaste เผยว่า แรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมถังแยกขยะอัตโนมัติ GARBAGEMAN โดยใช้ Machine Learning พร้อมกับแอปพลิเคชั่นในการสะสมคะแนนนี้ เกิดจากประเทศไทยประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งในปี 2563 พบว่ามีขยะมูลฝอยมากถึง 25.37 ล้านตัน และปัญหาจากคนส่วนใหญ่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการแยกขยะ และมีความสับสนในการแยกขยะ ดังนั้นเราจึงสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะเจาะกลุ่มโรงเรียน นักเรียนอายุ 12-18 ปี เพราะกลุ่มนี้มีความกะตือรือร้นในการทำกิจกรรมและการแยกขยะ โดยทีมเราได้มีการลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บ Data Set หรือรูปภาพขยะประเภทต่างๆ มาทำ AI ซึ่งตอนนี้มีการทดสอบระบบได้ความแม่นยำถึง 90%  โดยการทำงานคือ เมื่อผู้ใช้นำขยะมาทิ้งที่ถัง GARBAGEMAN จะมีกล้องจับภาพขยะ แล้วส่งไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เมื่อประมวลผลเสร็จแล้วจะส่งผลลัพธ์ไปให้ระบบมอเตอร์ เพื่อดึงระบบถาดเทโดยใช้สายพานส่งขยะให้ไปสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง และในส่วนแอปพลิเคชัน ก็จัดตั้งระบบมีหน้าโปรไฟล์ แสดงข้อมูลผู้ใช้ คะแนนสะสม เพื่อใช้แลกรับของรางวัล พร้อมสร้างเพจเฟซบุ๊กเพื่อให้คนได้มาติดต่อข้อมูลข่าวสารการใช้นวัตกรรมนี้ครับทีมฟูริน เผยว่า ทีมฟูริน ทำนวัตกรรมเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา โดยนวัตกรรมมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ทางเดิน และส่วนที่ 2 ตัวเครื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้ตำแหน่งและแยกประเภทขยะได้ โดยจุดเริ่มต้นที่สนใจกลุ่มผู้พิการทางสายตา เริ่มจากได้พูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน และได้โจทย์ให้ไปสอบถามคนในชุมชน หรือคนเก็บขยะว่า ทำไมถึงไม่แยกขยะกัน ทำไมถึงเทขยะรวมกัน เมื่อสัมภาษณ์แล้วจึงทราบว่า เหตุผลที่คนในชุมชนไม่แยกขยะเพราะรู้สึกยุ่งยาก และไม่รู้ว่าถังขยะสีเหลืองต้องทิ้งอะไร ถังขยะสีแดงต้องทิ้งอะไร จึงทิ้งขยะรวมๆ กัน พวกเราจึงเกิดคำถามว่า คนธรรมดายังแยกขยะได้ยาก แล้วถ้าผู้พิการโดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นขยะได้ จะแยกขยะได้อย่างไร จึงคิดค้นทำนวัตกรรม “ตู้แยกขวดพลาสติกสำหรับคนตาบอด” เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทิ้งขยะได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการทำร่วม 8 เดือน และจะพัฒนาผลงานต่อไปแน่นอนเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แยกขวดพลาสติกได้หลากหลายแบบมากขึ้น และพัฒนาระบบด้วย Raspberry ซึ่งตลอดการร่วมโครงการ The Electric Playground ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัย หลักสูตร STEAM4INNOVATOR และพี่ๆ ในโครงการทุกคนหลายอย่าง เช่น ช่วยหาข้อมูล ช่วยแนะนำว่านวัตกรรมของเราควรปรับเพิ่มตรงไหนเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยชี้แนะแผนธุรกิจควรแก้ส่วนใดเพิ่ม เป็นต้น ในอนาคตก็อยากส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการขยะให้มากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการต่างๆ ซึ่งยังมีค่อนข้างน้อยค่ะ

ทีมสร้างพลังงานโดยใช้ความร้อน เผยว่า แรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องสร้างพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้านี้ เกิดจากการเห็นประชากร มนุษย์โลกที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้จำนวนขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือขยะอย่างยางรถยนต์หรือขยะพลาสติก จึงเกิดคำถามว่าจะดีกว่าไหมถ้าเรานำขยะเหล่านี้มาเผาแล้วได้พลังงานไฟฟ้า และได้เพิ่มมูลค่าให้กับขยะด้วย ผมจึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งนำยางรถยนต์หรือขยะพลาสติกมาเผา ผ่านระบบที่มีเตาเผา ตัวควบคุมการชาร์จ ระบบระบายความร้อนด้วย Cooling Tower ระบบจำกัดควัน ซึ่งได้ผลลัพธ์คือพลังงานไฟฟ้าและยิปซัม ตลอดการเข้าร่วมโครงการฯ และทำนวัตกรรมนี้นานร่วม 3 เดือน ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยพัฒนาผลงานผมด้วย และส่วนตัวมองว่าการจัดกิจกรรมอบรมเช่นโครงการนี้ ก็สามารถส่งต่อการปลูกฝังการจัดการขยะและการแก้ปัญหาได้ดีครับ

ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) เผยว่า พวกเราทำแอปพลิเคชัน เป็นตัวกลางระหว่างคนที่จะขายขยะกับร้านที่รับซื้อขยะ โดยมีพาร์ทเนอร์เป็น Rider ค่ะ จุดเริ่มต้นในการทำเกิดจากเราได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนแถวบ้านที่เกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ว่าปัญหาคืออะไร ซึ่งที่เกาะแก้วมีการแยกขยะอยู่แล้ว แต่ซาเล้งที่มารับซื้อขยะมาบ้าง ไม่มาบ้าง และมาแต่ละครั้งก็ไม่ทราบว่ามีการซื้อขายไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมนำขยะของตนไปที่ร้านรับซื้อขยะ จึงได้คิดค้นทำนวัตกรรม TAOYAA (ต้าวหยะ) เพื่อเชื่อมทุกฝ่ายให้มารวมกันผ่านแอปพลิเคชันนี้ค่ะ ใช้เวลาทำร่วม 6 เดือนเลยค่ะ ตลอดโครงการฯ ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ ในโครงการช่วยพัฒนาแอปฯ อย่างมาก ให้เราไปศึกษาแอปพลิเคชันต่างๆ ในการพัฒนาเป็นนวัตกรรม แก้ปัญหาเพื่อปิดรูรั่วต่างๆ มีการวางแผน Business Model ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำเลยค่ะ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และในการนำเสนอผลงานแต่ละครั้งก็เตรียมเก็งคำถามและตั้งใจซ้อมมากๆ ตอนนี้ทีม Bajaangs(บ๊ะจ่าง) ได้ติดต่อกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งท่านก็ช่วยประสานงานให้ โดยตำบลเกาะแก้วจะเป็นที่แรกในการใช้แอปฯ นี้ และมีแผนขยายไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งน่าจะใช้เวลาพัฒนาแอปฯ เพิ่มอีกร่วม 6 เดือนค่ะ และตลอดโครงการฯ เพื่อนๆ และคุณครูที่โรงเรียนก็สนับสนุนติดตามอย่างใกล้ชิดเลยค่ะ ซึ่งได้ซึมซับการรับรู้การจัดการปัญหาขยะผ่านโครงการนี้ร่วมกันด้วยค่ะ

ทีม save the world เผยว่า แรงบันดาลใจในการทำนวัตกรรมเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเตาขยะด้วยเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริก หรือเรียกสั้นๆ ว่า TEG เกิดจากต้องการเปลี่ยนไอเสียรถยนต์ ความร้อนที่เกิดความร้อนใต้พิภพหรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นความร้อนสูญเสียที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาสร้างพลังงานสะอาดเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศก็มีการทำ Renewable Energy Certificate ใบรับรองการทำธุรกิจแบบคาร์บอนเครดิตเพื่อลดภาษีคาร์บอน ทั้งยังสามารถลดต้นทุนโดยรวมขององค์กรทางอ้อมได้ จึงนำเหล่านี้มาเป็นปรับพัฒนานวัตกรรม ซึ่งกระบวนการการทำงานของนวัตกรรมเราก็คือ เมื่อเกิดความร้อน และระบบ Cooling ที่ช่วยระบายความร้อนทำงาน ตัวเทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริกจะเริ่มผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะได้ปริมาณมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแหล่งความร้อนและระบบน้ำหล่อเย็น เมื่อได้ไฟมาแล้วจะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และนำไปใช้งานต่อไป ทั้งนี้ยังออกแบบให้มีการใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย การซ่อมบำรุงไม่ยุ่งยากร่วมด้วย

ข้อมูลโครงการเพิ่มเติม www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/ หรือเว็บไซต์ https://electricplayground.nia.or.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *