อว. ปลื้มโมเดลมหา’ลัย ผู้ประกอบการเด็กไทยสร้างรายได้ต่อปีรวมกว่า 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าปี 65 ออกโปรแกรมฯสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค นักศึกษาตบเท้าเข้าร่วมกว่า 4.8 หมื่นคน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งเดินหน้ามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ :Entrepreneurial Universities ผ่านโครงการ Startup Thailand League เผยตลอด 5 ปีจากการดำเนินงานมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จาก 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมต้นแบบทั้งสิ้นกว่า 1,350 ทีม และสามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 50 บริษัท ก่อให้เกิดรายได้รวมต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อปีต่อบริษัท  โดยในปีนี้ ยังคงเดินหน้าร่วมกับ 40 มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ บ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีความพร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพผ่านโปรแกรม Startup Thailand League เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนิสิต/นักศึกษาทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนทรัพยากรที่จะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ในอนาคต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าพลังของเยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงมอบหมายให้ NIA เป็นหน่วยงานหลักที่จะเชื่อมผสานความร่วมมือและเพิ่มบทบาทให้กับสถาบันการศึกษาในการสร้างความตระหนักและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่นิสิต/นักศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความคิดและนวัตกรรม โดยพยายามผลักดันให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial Universities) ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวม 40 แห่งที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ นำไปสู่การขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยอย่างยั่งยืน”

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA  กล่าวว่า “Startup Thailand League เป็นโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งสร้างเมล็ดพันธุ์เถ้าแก่น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในภาคธุรกิจ หรือเป็นพนักงานที่มีคุณภาพของบริษัทเอกชน ซึ่งประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การอบรม Coaching Camp ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ และ 2) กิจกรรม Pitching Startup Thailand League เป็นการประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษา ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่จุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของเยาวชนให้ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสอดรับกับนิสิต/นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และต้องการโอกาสเรียนรู้ทางเลือกหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งตลอด 5 ปีของการดำเนินกิจกรรมมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จาก 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมต้นแบบทั้งสิ้นกว่า 1,350 ทีม ทั้งนี้ สามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 50 บริษัท ก่อให้เกิดรายได้รวมต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท (เฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อปีต่อบริษัท) นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของสตาร์ทอัพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค รวมถึงเกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้มากขึ้นอีกด้วย”

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 48,000 คน มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ 400 ทีม ผ่านการอนุมัติและได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาต้นแบบ 200 ทีม เงินรางวัลรวมกว่า 5,000,000 บาท โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Erythro-Sed จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพของเครื่องตรวจวัดอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (ESR) และการตรวจประเมินความชำนาญทางผู้ปฏิบัติการในการตรวจ ESR นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่น่าสนใจ เช่น ทีม Theeotech จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสื่อสามารถสร้างคำบรรยายภาษามือได้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินให้สามารถเข้าใจสื่อผ่านภาพเคลื่อนไหวภาษามือ 3 มิติได้ และทีม Perm จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ที่ต้องการข้อมูลไปเทรน machine learning กับผู้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือในรูปแบบไร้ตัวกลาง โดยจากผลการดำเนินงานมีนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจดทะเบียนบริษัทแล้ว 4 ทีม (มูลค่าจดทะเบียน 4 ล้านบาท) และมีทีมนักศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ อาทิ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) SIBB โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M) และธนาคารออมสิน เป็นต้น กว่า 48 ทีม และได้รับทุนสนับรวมประมาณ 4,800,000 บาท

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *