คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาฯ วุฒิสภา ชี้ช่องยกระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล

 

เมื่อวันพุธที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. คณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษาในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประชุมครั้งที่ ๔ (๔/๒๕๖๕)ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Cisco Webex Meetings) โดยมี รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

– พิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยและความสอดคล้องกับระเบียบวิธีการในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (THE World University Ranking 2022) โดยเชิญผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมประชุม

การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพเชิงลึกและการจัดอันดับของสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูล Country Insights Dashboard (CID) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าสู่ระบบการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลก (THE University Impact Rankings) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล ดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยเป็นการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education University Rankings (THE) และเปรียบเทียบระหว่างอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกกับอันดับมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีเกณฑ์หลัก ได้แก่ ตัวชี้วัดจากการสอน (Teaching) ตัวชี้วัดจากงานวิจัย (Research) ตัวชี้วัดจากการอ้างอิงงานวิจัยหรืองานวิชาการ (Citations) ตัวชี้วัดจากมุมมองด้านความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ตัวชี้วัดจากรายได้ทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น (Industry income)

 

ทั้งนี้ ทางคณะผู้ศึกษาได้จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเสนอกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

๑) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ถือเป็นภาพสะท้อนต่อภาพรวมของมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ดังนั้น ควรมีการนำหลักเกณฑ์ในแต่ละด้านของสถาบันการจัดอันดับมาพิจารณาเพื่อกำหนดเป้าหมายหรือทิศทางเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดจุดแข็งจุดอ่อน ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย
๒) มหาวิทยาลัยตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๔ โดยเฉพาะกลุ่มการพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ควรเกิดการแข่งขันและสร้างผลงานตามหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education University Rankings (THE) ให้เพิ่มมากขึ้น
๓) ควรทำความเข้าใจและมุ่งเน้นในเรื่องอัตลักษณ์ รวมถึงภารกิจเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนั้น ควรเลือกใช้หลักเกณฑ์บางประการในการนำมาชี้วัด เพื่อให้ทราบถึงอันดับเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัย

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *