คณะอนุกมธ.การอุดมศึกษาฯ ดันกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา พร้อมเร่งหาแนวทางในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)

คณะอนุกมธ. ในคณะกมธ.การอุดมศึกษา ฯ ดันกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ชี้ เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ พร้อมเร่งหาแนวทางในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ในระดับอุดมศึกษาของประเทศ

เมื่อวันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา คณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประชุมครั้งที่ ๖ (๖/๒๕๖๕) ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข CA 331 ชั้น ๓ อาคารรัฐสภาและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Cisco Webex Meetings) โดยมี รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

พิจารณาความคืบหน้าในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านอุดมศึกษา จำนวน ๒ ประเด็นได้แก่ ๑. การดำเนินการเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และ ๒. แนวทางการดำเนินการ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) โดยเชิญผู้แทนสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

๑. กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ ๒) สนับสนุนการปฏิรูปการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ฉบับที่.. พ.ศ. …. และกฎหมายอื่น อาทิ การพัฒนาระบบการเรียนรู้ไปสู่การเรียนรู้ที่ตอบสนองการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ให้เข้าถึงการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ทุกที่ทุกเวลา ในต้นทุนที่เข้าถึงได้ การส่งเสริมสนับสนุนระบบการพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะ รวมถึงทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ของคณาจารย์ให้ทันความเปลี่ยนแปลงตลอดจนการส่งเสริมการจัดการศึกษาร่วมระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันวิชาการทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่เชื่อมต่อกับโลกการทำงาน รวมทั้ง พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับผู้เรียน ๓) สนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ ๔) สนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้านอื่น ๆ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

โดยความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษานั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวม ๔ ฉบับ ดังนี้

๑) ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

๒) ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

๓) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

๔) ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับมติของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ตลอดจนข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย ก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณา

คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ สมควรผลักดันและเร่งรัดในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรอง อีกทั้ง ควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาทิ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีในกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและให้ข้อคิดเห็นในกระบวนการทางกฎหมายในระดับต่าง ๆ ด้วย

๒. การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เป็นแนวทางผลักดันการผลิตกำลังคนด้วยวิธีการใหม่ของสถาบันอุดมศึกษารูปแบบหนึ่งตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๖๙ ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีอาจเสนอสภานโยบายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ ประกอบกับข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔

โดยมีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ๒) เพื่อให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะและทักษะที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ๓) เพื่อนำไปสู่การให้ปริญญา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาแบบปริญญาที่มาจากการเทียบโอนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่มุ่งปริญญา และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่อื่น ๆ ๔) เพื่อให้มีการกำกับ ติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่ และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา และ ๕) มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนศักยภาพสูงใน ๓ รูปแบบ ได้แก่ กลุ่มสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร กลุ่มสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงกลุ่มสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการการมอบอำนาจให้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) และมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงาน
ในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาแทนคณะรัฐมนตรีโดยให้ถือว่าการอนุมัติและความเห็นชอบดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรี และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะต่อไป

คณะอนุกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ในระดับอุดมศึกษาของประเทศ ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้หรือหลักสูตรที่หลากหลาย ไม่ถูกจำกัดในมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงมาตรฐานเดียว อย่างไรก็ตาม การจัดหรือกำหนดหลักสูตร ควรให้สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ มีส่วนร่วมในออกแบบหลักสูตร รวมถึงควรแสดงถึงการมุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับทักษะที่สูงขึ้น เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ตลอดจนตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ (Demand Side) อย่างชัดเจน

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *