สัมภาษณ์พิเศษ “น้องอ้อม” นันทพร ก้อนรัมย์ บัณฑิตพิการทางการมองเห็นคนแรกของประเทศไทย ใช้อักษรเบรลล์ภาษาจีนเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้กับ น้องอ้อม บัณฑิตพิการทางการมองเห็นคนแรกของประเทศไทยที่เรียนภาษาจีนโดยใช้อักษรเบรลล์ภาษาจีนเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร ที่จะทำการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันจัทร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ซึ่งเป็นการช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการศึกษาเล่าเรียน โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา จนไปถึงเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จ

ล่าสุด น้องอ้อม ได้เปิดใจผ่านการ เสวนาออนไลน์เมื่อวันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ด้วย ZOOM Cloud Meetings ในหลายเรื่องหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ภาษาจีน ความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นครู ผู้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จ จนไปถึงคำดูถูกติเตียนกว่าจะมาถึงวันนี้ และเรื่องราวอีกมากมายที่เรานำมาให้ได้รู้กัน…

 

ผู้ช่วยอธิการบดี (อาจารย์พฤทธิ์ พุฒจร) สัมภาษณ์ “น้องอ้อม”

………………………………

“น้องอ้อม” ช่วยแนะนำตัวหน่อยให้อาจารย์หน่อยครับ

ค่า สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาว นันทพร ก้อนรัมย์ ชื่อเล่นชื่อ อ้อม ค่ะ ปัจจุบันทำงานที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพ บริษัท ทีอาร์บี เชอร์เม็ดดิก้า จำกัดค่ะ ภายใต้มาตรา 33 ตำแหน่ง ผู้ช่วยครูค่ะ

เรียนมัธยมจากที่ไหน ทำไมถึงสนใจการเรียนภาษาจีน

ก็จริง ๆ จะมีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนประจำอะค่ะ เป็นโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่นค่ะ เรียนเกี่ยวกับการฝึกอักษรเบรลล์ ฝึกการใช้ชีวิต ช่วงมัธยมมอต้นจะเรียนที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยค่ะ แล้วก็ช่วงมอปลาย สิ่งที่ได้มาเรียนภาษาจีนเพราะว่า ช่วงมอปลายตอนแรก โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ได้เปิดหลักสูตรภาษาจีนเป็นปีแรก ตอนนั้นทางผู้อำนวยการโรงเรียนก็เลยถาม แล้วก็ติดต่อว่าจะลองเรียนดูมั้ย แล้วก็เป็นคนที่ชอบภาษาด้วยค่ะส่วนนึง ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนตอนมัธยมอะค่ะ

ทำไมถึงเลือก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเรียนภาษาจีน

ค่ะ ก็ช่วง ม.5-ม.6 ก็ได้สืบข้อมูล ได้ค้นข้อมูล ว่ามหาวิทยาลัยไหนที่มีภาษาจีนบ้าง ก็ได้รู้ข้อมูลว่าที่แม่ฟ้าหลวงมีภาษาจีน มีสาขาที่น่าสนใจ ก็คือ การสอนภาษาจีนค่ะ แล้วก็เบื้องต้นก็คืออยากเป็นครูอยู่แล้ว ก็เลยเลือกที่นี่ค่ะ

แล้วทำไมเราถึงอยากเป็นครู ถึงได้เลือก หลักสูตรการสอนภาษาจีน ที่แม่ฟ้าหลวง

จริง ๆ อยากเป็นครูด้วยส่วนนึง แล้วก็อยากเปิดโอกาสให้น้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป อะค่ะที่เขาจะได้เรียนต่อจากเรา คือการศึกษาของคนตาบอดค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นสาขายอดฮิตก็คือ นิติศาสตร์ ในระดับมหาวิทยาลัย ก็อยากเปิดโอกาสให้น้อง ๆ คือน้อง ๆ จะได้มีแรงบันดาลใจ แล้วก็สมมติว่าเราทำได้ น้อง ๆ ก็อาจจะมีความกล้าขึ้นมา กล้าที่จะเลือกอะไรที่มันแตกต่าง นอกเหนือจาก สาขาอื่น ๆ ที่เขาเคยรู้จัก แล้วก็ถ้าเราเรียนสำเร็จแล้วได้มาสอนน้อง ๆ ตาบอด เราอยากจะเปิดหลักสูตรที่เป็นภาษาจีนให้กับคนตาบอดได้เรียนด้วยค่ะ

บรรยากาศและการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ที่แม่ฟ้าหลวง

จริง ๆ บรรยากาศในการเรียนค่อนข้างดี เพราะว่า เพื่อน ๆ อาจารย์ ค่อนข้างที่จะให้ความช่วยเหลือดีมากค่ะ เราบกพร่องตรงไหน หรือว่าไม่ทันตรงไหน เพื่อนและอาจารย์ก็จะให้การช่วยเหลือ แล้วก็สิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างที่จะดี มี ร้านค้า ร้านอาหาร หอพัก ให้พัก แล้วก็มีรูมเมทคอยช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกถ้าไปนั่นไปนี่ จริง ๆ ถามว่าทุกข์มั้ย ไม่ทุกข์ค่ะ ไม่มีทุกข์ แต่ว่าอาจจะมีอุปสรรคนิด ๆ หน่อย ๆ เรื่องช่วงแรก ๆ เรื่องหนังสือบ้างอะไรบ้าง

อยากจะถามอาจารย์ว่ามีการช่วยเหลือนักศึกษาแบบนี้อย่างไรบ้าง

ทางสำนักวิชานะครับ แรกเริ่มตอนที่น้องอ้อมได้เข้ามาใหม่ ๆ ยอมรับนะครับ ว่าเป็นเรื่องใหม่มาก สำหรับคณะอาจารย์ ซึ่งเราก็ได้รับสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ในการที่จะได้รับสื่อแล้วก็อุปกรณ์ เช่น เครื่องพิมพ์เบรลล์ เพราะว่าตอนนี้ภาษาจีนเป็นภาษาอักษรภาพ ซึ่งทำอักษรเบรลล์ได้ค่อนข้างยาก หลังจากนั้นเนี่ยนะครับคณบดีท่านเดิม แล้วก็คนปัจจุบันได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยการสนับสนุนโดยการจัดตั้งคณะทำงานเป็นพิเศษเลย เพื่อมาดูแลนักศึกษาผู้ที่มีความต้องการพิเศษนะครับ ทั้งด้านสายตา ร่างกาย และปัจจุบันสำนักวิชาก็เปิดรับนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ และสิ่งที่ล่าสุดที่สำนักวิชาเราได้ร่วมมือกับหน่วยงาน DSS ได้จัดทำตาราหนังสือที่เป็นภาษาเบรลล์ แล้วก็เป็นอักษรเบรลล์จีนแรก ๆ เป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ เลยของประเทศไทย ซึ่งเราภูมิใจมากที่ได้ก่อตัวตำราตัวนี้ขึ้นมา ทำให้การจัดการเรียนการสอนภาษจีน อำนวยความสะดวกได้ดียิ่งขึ้นครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลงานอันที่น่าภาคภูมิใจสำนักวิชาจีนวิทยาครับผม

หน่วยงาน DSS ทำอะไรบ้าง ช่วยเหลือ “น้องอ้อม” อย่างไร

หน่วยของเรา เป็นหน่วยที่ดูแล แล้วก็ให้ความช่วยเหลือ แก่นักศึกษาผู้พิการทุกประเภทอยู่แล้ว ก็ในเริ่มแรกนี้ที่เราได้น้องอ้อมมา เป็นอะไรที่โจทย์ยากมาก เพราะว่าเบรลล์จีนยังไม่มีในประเทศไทย ในเริ่มแรกนี้เราใช้วิธีการเรียนเป็นภาษาคาราโอเกะก่อน ช่วงนั้นเราพยายามสอนน้องให้ได้มาตรฐานที่สุด จนกระทั่งเราได้เป็นอักษรเบรลล์จีนมาค่ะแล้วก็ถึงได้เริ่ม น้องอ้อมเป็นรุ่นบุกเบิกรุ่นแรกที่ใช้เบรลล์จีนเรียน แล้วก็เรียนตลอดหลักสูตรเลยค่ะ เป็นเบรลล์จีนทั้งหมดค่ะ เริ่มแรกเราใช้เบรลล์ภาษาอังกฤษประกบไปก่อน เช่น คำว่า หว๋อ เราก็ใช้เป็นตัว W O แล้วก็ตามด้วยเครื่องหมานำเลข แล้วก็เลข 3 ช่วงแรก ๆ ที่เราเรียนกันก็จะเป็นแบบนั้น ช่วงนั้นก็จะค่อนข้างมีปัญหา เพราะ 1.ไม่มีตำรา อาจารย์ต้องมานั่งทำตำราเอง ไล่ทีมเด็ก ๆ  มาช่วยในเรื่องของการแปลงอักษรจีนให้กลายเป็น Code แบบที่เราคิดขึ้นมาเอง ก็คือ W O 3 แล้วเราก็ส่งข้อมูลให้หน่วยงาน DSS และ DSS ก็ช่วยทำออกมาเป็นหนังสือค่ะ แล้วตอนหลัง DSS ก็ไปหามาให้ว่า Code เบรลล์จีนมีอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็เริ่มเอามาสอน อ้อมเรียนจบ Code เบรลล์จีนทั้งหมดภายใน 4 ชั่วโมงเลยค่ะ หลังจากนั้นก็ง่ายที่จะทำงาน เราก็ส่งแค่ตัวภาษาจีนให้กับ DSS และหน่วยงานก็ช่วยประสานจีนพิมพ์ตำราออกมาจนเริ่มมีใช้ตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนในเรื่องของการเรียนการสอนในห้อง อ้อมเป็นคนน่ารัก เขาจะเป็นที่รักของเพื่อน ๆ อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้อุปสรรคอะไรตั้งแต่แรก เพียงแค่เราในฐานะผู้สอน เราต้องคอยระวังเรื่องนึงก็คือว่า เวลาเราสอนอะไรเราต้องบรรยายทุกอย่างมา เราทำอะไรในห้องต้องบรรยายออมาให้ได้ เพื่อให้ทั้งห้องจะได้ไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง ปัญหาจะมีที่ช่วงสอบค่ะที่ต้องแยกเขาออกมาสอบเพราะว่าต้องใช้เวลาทำข้อสอบมากกว่าเพื่อน แล้วก็บางครั้งช่วงแรก ๆ เราก็อาศัยการอ่านให้ฟัง ช่วงหลัง ๆ พอได้เบรลล์มาช่วยก็รู้สึกง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ

“น้องอ้อม” อยากขอบคุณใครบ้าง ที่เราได้สำเร็จการศึกษา

จริง ๆ ก็ช่วงแรก ๆ เลย อยากขอบคุณครอบครัวค่ะ เพราะอย่างแม่นี่ก็สนับสนุนทุกอย่าง อย่างเราอยากเรียนอะไร อยากทำอะไร เขาจะซัพพอร์ต แล้วก็ให้คำแนะนำ แล้วก็ต่อมาก็คือ อาจารย์ค่ะ คอยช่วยเหลือทุกอย่าง เราอยากรู้เรื่องไหน เราไม่ทันเรื่องไหน บางที 2-3 ทุ่ม อาจารย์สอนไม่ทันก็มาติวเสริมให้อะไรแบบนี้ค่ะ ว่างนัดช่วงไหนก็สามารถติวให้ได้เลย แล้วก็เพื่อน ๆ ที่คอยช่วยเหลือบางวิชาที่เนื้อหาทำไม่ทันบ้าง เพราะหนังสือมีหลายเล่ม บางทีเรียนก็อาจจะมีล่าช้าบ้าง เพื่อน ๆ ก็จะอัดเสียงให้ฟังก่อนค่ะ แล้วก็มหาวิทยาลัยค่ะที่ให้โอกาสในการที่เข้าเรียน คืออำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ทั้งทุนการศึกษา หอพัก สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยค่ะ ช่วย ๆ อำอวยการทุกอย่าง แล้วช่วงนั้นก็มูลนิธิเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งหนูได้เรียนจบจากที่นั่น ช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์ ปริ้นเตอร์ เบรลล์ เรื่องการจัดซื้อแล้วก็ส่งทางมหาวิทยาลัย แล้วก้ปัจจุบัน อยากขอบคุณทางบริษัทที่ให้ทำงาน แล้วก็โรงเรียนที่ให้ทำงานปัจจุบัน คือโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพค่ะ ที่ช่วยให้โอกาส แล้วก็ช่วยให้แสดงศักยภาพในการใช้ความรู้ในการเป็นครู แล้วก็ท้ายที่ตัวสุดก็คือตัวเองนี่แหละค่ะ เพราะถ้า ตัวเองไม่กล้าในวันนั้น คือ ไม่กล้าเลือกที่จะเรียน ก็จะไม่ประสบความสำเร็จเป็นปัจจุบันนี้อะค่ะ

ในอนาคตวางแผนไว้อย่างไร และจะทำอะไรต่อไป

ก็ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ความร่วมมือแล้วก้จัดตั้งหลักสูตรเพื่อสอนภาษาจีน สำหรับผู้พิการทางสายตา ตั้งแต่ระดับประถม เพราะว่าสมัยนี้ตั้งแต่สำรวจโรงเรียนปัจจุบันที่เป็นมัธยมที่เด็ก ๆ ได้ออกไปเรียนค่ะ เป็นวิชาภาษาจีนที่เป็นภาคบังคับเลย ก็ได้ Feedback มาจากคุณครูที่ไปช่วยที่โรงเรียนปกติที่นักเรียนไปก็เรียนค่ะ ก็คือมีปัญหาทางภาษาจีนแล้วก็ไม่มีหนังสือ ไม่มีคนติวให้ค่ะ คือถ้าสมมติว่า ถ้ามีหลักสูตร เราจะได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้นักเรียนได้ทันกับเพื่อน ๆ เมื่ออกไปเรียนกับสังคมภายนอกค่ะ

อยากให้สังคมช่วยเหลืออะไรบ้างสำหรับคนพิการ

จริง ๆ คนพิการ ไม่ใช่ว่าเฉพาะพิการทางสายตา ทุกประเภทมีความสามารถอยากให้ ทางมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง หรือว่า บริษัท หลาย ๆ แห่ง ลองเปิดโอกาส เปิดรับคนพิการที่เขายังไม่มีงานทำ เพราะว่าบางคนความสามารถเขามี แต่เขาอาจจะยังไม่ได้รับโอกาสการทำงานตรงนี้ค่ะ อยากจะลองให้เปิดโอกาส แล้วลองทดสอบความสามารถ ศักยภาพเขาดูค่ะ

 

สื่อมวลชน สัมภาษณ์ “น้องอ้อม”

………………………………

ความลำบากช่วงแรกในการเรียนเป็นยังไงบ้าง

ช่วงแรกที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยเรื่องการใช้ชีวิตไม่กังวลค่ะ แต่จะกังวลเรื่องหนังสือ เรื่องอุปกรณ์เราจะทำยังไงให้ทันเพื่อน จะอ่านหนังสือได้ยังไง ก็แรก ๆ ได้ใช้ภาษาคาราโอเกะที่ได้สร้างขึ้นมาเอง ก็ค่อนข้างที่จะช้า ถ้าเทียบกับปัจจุบันที่มีอักษรเบรลล์จีน ช่วงแรก ๆ ที่ช่วยทำหนังสือให้ก็ใช้เวลานานมาก เพราะว่าอย่างปัจจุบันถ้ามีไฟล์ที่เป็น Code จีนเลยจะปริ๊นซ์ออกมาได้เลย ถ้าตอนนั้นต้องมาแปลงมาพิมพ์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มก็ประมาณหนึ่งเทอม ที่ได้ใช้ ก็ถามว่าลำบากมั้ย ก็ลำบาก แต่แก้ไขด้วยการเข้าหาอาจารย์ค่ะ เข้าหาอาจารย์ทุกวิชาที่ได้เรียน แล้วก็เพื่อน ๆ ด้วยค่ะ ที่ช่วยในเรื่องติวเสริม บางหน้าบางทีอาจจะขาดหายไปบ้าง อย่างเช่น มี 20 หน้าในหนังสือปกติ บางทีเราอาจได้ 19 หน้า อีกหน้าหนึ่งขาดหาย บางทีเป็นที่โปรแกรม จึงจำเป็นต้องถามอาจารย์เพื่อจดต่างหาก ก็ส่วนอื่น ๆ เรื่องการชีวิตอะไรก็ไม่มีปัญหาค่ะ

ทำไม “น้องอ้อม” ถึงชอบภาษาจีน แล้วทำไมถึงอยากเป็นครู

ก็ ภาษาจีนอะค่ะ เป็นภาษาที่หนูรู้สึกว่าแปลก แล้วก็มีวัฒนธรรมที่เยอะมากและน่าสนใจแล้วก็สำเนียงการออกเสียงอะไรแบบนี้ค่ะ คือน่าสนใจ อยากเปิดโอกาส อยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ที่จะเรียนรุ่นต่อไปด้วย ให้เขาเปิดโอกาสที่จะกล้าเรียนสิ่งใหม่ ๆ

จากการค้นคว้าก่อนเข้าศึกษา ในประเทศไทยมีสาขาให้คนตาบอดเรียน มาก-น้อย แค่ไหน

จากที่ทราบก็คือ มหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างพร้อมจค่ะ ก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีเครื่องปริ้นซ์เตอร์เบรลล์ มีห้องหนังสือ มีห้องติวสำหรับนักศึกษาพิการ แล้วก็จิตอาสาที่เป็นนักศึกษาด้วยกัน มีโควตา นักศึกษาพิการในช่วงแรก ๆ คือ อย่างแม่ฟ้าหลวง ก็มีหลังจากที่หนูเข้าค่ะ ที่เป็นนักศึกษาพิการ แล้วเป็นโครงการมาเลย แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มี แต่อย่างธรรมศาสตร์เขาจะมีโควตาคนพิการ ก็คือ ไม่ต้องไปสอบแข่งขันกับคนปกติ ซึ่งคนพิการก็สอบกับคนพิการด้วยกันเลย จะมีคณะยอดฮิตของคนตาบอดในนั้นก็มี นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ อะไรแบบนี้ค่ะ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นที่ค่อนข้างพร้อมก็อย่าง รามคำแหง ก็มีนิติศาสตร์เหมือนกัน แล้วก็มี DSS ที่ซัพพอร์ตเหมือนกัน แล้วก็ สวนดุสิต จะมีมนุษยศาสตร์ ภาษาไทยที่เป็นสาขายอดฮิต ส่วนภาษาจีนก็ยังไม่มี แล้วก็เจอที่แม่ฟ้าหลวงที่แรกเลยที่มีทั้ง สาขา ภาษา วัฒนาธรรมจีน ซึ่งเราก็อยากเป็นครูด้วยก็เลยเลือกสอบในสาขานี้ค่ะ

ในตอนนี้มีนักศึกษาต้องการพิเศษ มาก-น้อยแค่ไหน แล้วมีซัพพอร์ตอย่างไรเพิ่มเติมบ้าง

ตอนนี้นักศึกษาที่แจ้งชื่อมาล่าสุด มีจำนวน 15 คน แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้มีเฉพาะสาขาวิชาการสอนภาษาจีนเพียงอย่างเดียวนะครับ มีสาขาวิชาบริหารธุรกิจจีน แล้วก็ สาขาภาษาวัฒนธรรมจีน นะครับ ซึ่งแจ้งเรียนมาประมาณนี้ โดยจริง ๆ มีด้วยกันทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ สาขาการสอนภาษาจีน สาขาบริหารธุรกิจจีน สาขาภาษาวัฒนธรรมจีน แล้วก็สาขาจีนศึกษานะครับ ซึ่งทั้ง 4 สาขาเนี่ยนะครับ พร้อมที่จะรับนักศึกษา แล้วก็มีนักศึกษาที่สมัครเข้าในปี 2565 อยู่ประมาณ 7 คน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแล้วก็ทางสำนักวิชานั้นก็มีความพร้อม แล้วก็ทางมหาวิทยาได้สนับสนุนในเรื่องกายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ pp

ในเมื่อมีในสำนักภาษาจีนแล้ว จะถูกขยายไปในหลาย ๆ รายวิชาอีกหรือป่าว

จริง ๆ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาส มีหน่วยงานของเรา DSS ที่ช่วยเหลือในรายวิชาอื่น ๆ หรือสาขาวิชาอื่น ๆ ด้วย ในตอนนี้เรามีอยู่ 5 ประเภท คือ สายตา การได้ยิน ออทิสติก ทางด้านจิตใจพฤติกรรม และการเคลื่อนไหว ทั้งหมดตอนนี้เรามีนักศึกษาในการดูแลอยู่ทั้งหมด 18 คน

ใครเป็นแนวทางในการศึกษาครั้งนี้

เอิ่มมมม แนวทางจริง ๆ ทางครอบครัวก็สนับสนุน คือเขาไม่ได้บังคับว่าเราจะเรียนอะไร หรือยังไง แต่ว่า จริง ๆ มาจากคำสบประมาทของคนอื่น ๆ ที่เขาพูดมากกว่าค่ะ ว่า นี่เธอจะเลือกไปเรียนภาษาจีนหรอ เธอจะเรียนได้ยังไง อะไรแบบนี้ ว่ามันยากนะภาษาจีนมีเป็นพัน ๆ ตัว เธอจะเรียนรอดหรอ อะไรประมาณนี้ค่ะ คือมันทำให้เรารู้สึกฮึดขึ้นมา ว่า เออ ถ้าสักวันนึงเราทำได้ คำพูด หรือ ความคิดของเขาอาจจะเปลี่ยนไปอะไรแบบนี้ค่ะ

ในวันนี้เราทำได้แล้ว เราอยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น

ทุกวันนี้คนพิการที่ไม่ใช่เฉพาะหนู ทุก ๆ คน แล้วก็คนที่ไม่ใช่คนพิการ คืออยากให้แบบมองสิ่งใหม่ ๆ เปิดโลกใหม่ ๆ ว่าปัจจุบันนี้คนทุกคนเท่าเทียมกัน สามารถทำอะไรได้ไม่แตกต่างกัน แต่ว่าคนพิการทางสายตา ตาเขาอาจจะมองไม่เห็น แต่ ปาก มือ เท้า เขายังใช้ได้ พูดได้ จริง ๆ คนเราความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วก็ภูมิใจที่ตัวเองสามารถทำได้ เปิดมุมมอง เปิดทัศนคติใหม่ ๆ ให้บางคน บางคนเขาอาจจะมองคนพิการในมุมที่อาจจะไม่กว้าง ก็ถือว่าตัวเองประสบผลสำเร็จในระดับนึงที่สามารถเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับสังคมได้รับรู้ค่ะ

ในอนาคตอยากให้มหาลัย หรือ หน่วยงาน DSS ส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบไหนเป็นพิเศษมั้ย

จริง ๆ คือทางมหาวิทยาลัย และก็ DSS คือตอนนี้ซัพพอร์ตเต็มที่แล้ว ก็อยากเชิญชวนมากกว่าค่ะ ให้คนพิการที่ยังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม ลองเลือกแล้วก็ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองมาเรียนในสาขาที่หลากหลาย อาจจะไม่ใช่นักศึกษาพิการทางสายตา อาจจะเป็น แขน ขา หรืออะไร ลองเปิดโอกาสให้ตัวเอง ลองมาเลือกเรียนที่นี่ดูค่ะ

จากนักศึกษา ก้าวย่างเข้าสู่การเป็นครู เสียงตอบรับจากนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ค่อนข้างแตกต่าง คำนี้คือเชื่อจริง ๆ ก็คือกรรมตามสนอง เพราะว่าตอนสมัยมัธยมก็มีดื้อ ๆ บ้าง ไม่เชื่อฟังบ้าง อย่าง คุณครูพูดว่านี่เธอระวังกรรมตามสนองนะ ถ้าสักวันนึงเธอเป็นครูบ้าง ก็คือพอมาเป็นครูก็จริง ๆ ค่ะ ได้เจอนักเรียนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะนักเรียนที่พิการทางสายตา ตอนนี้คือได้สอนเด็กเล็กคือเด็กอนุบาลด้วยค่ะ คือเจอทุกรูปแบบ แบบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย แบบเด็กที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในชีวิตประจำวันจากผู้ปกครอง คือเราก็ต้องมาเทรนสอนใหม่ทุกอย่างเลย คือเด็กที่ดื้อเราจะรับมือยังไง เด็กเรียนที่ตั้งใจเรียน เจอมาทุกรูปแบบ อย่างเป็นนักศึกษาเราก็แค่เข้าเรียน กลับบ้าน อันไหนไม่เข้าใจก็เข้าหาอาจารย์ แต่พอเรามาเป็นครู คือไม่ใช่แค่เราสอนไปวัน ๆ แล้วกลับบ้านเลย แต่ถ้าเด็กมีปัญหา เราต้องดูพฤติกรรม ดูความพร้อมของเด็กด้วยว่าเขาขาดหรือบกพร่องในด้านไหน เราต้องทำการเสริมและทำให้เขาพร้อมมากที่สุดค่ะ

 

………………………………

ไม่มีความพยายามไหน ยากเกินไปถ้าเราตั้งใจจะทำ เช่นเดียวกับการศึกษาที่เป็นรากฐานอย่างหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต พวกเราบริษัท Eduzones ขอร่วมแสดงความยินดีกับ “น้องอ้อม” นันทพร ก้อนรัมย์ นักศึกษาบรรจุใหม่ที่เดินตามความฝันตัวเองได้สำเร็จ รวมทั้งยังขอเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาต้องการพิเศษทุก ๆ ท่าน และคนที่มีความฝันทุก ๆ คน จงอย่าย่อท้อกับมัน แล้วสักวันความฝันเหล่านั้นจะเป็นจริง….

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *