นักศึกษาเคมีสวนสุนันทา ผุดนวัตกรรมเยลลี่พร้อมดื่มจากไซรัปตาลโตนด คว้ารางวัลระดับเยาวชน วันนักประดิษฐ์

“น.ศ.เคมีสวนสุนันทา ผุดนวัตกรรมเยลลี่พร้อมดื่มจากไซรัปตาลโตนดเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน คว้ารางวัลระดับเยาวชน วันนักประดิษฐ์”

ทีมนักศึกษาแขนงวิชาเคมี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการส่งผลงาน “Yummy Palmy ผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่กัมมี่จากไซรัปตาลโตนด” เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชนในโครงการ Thailand New Gen Inventor Award 2021 ระดับอุดมศึกษา จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงาน“วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564-2565 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยทีมนักศึกษาประกอบด้วย นางสาวพฤฒิอร มีดี นางสาวสาวิตรี มูลสีดา และนางสาวสุกัญญา จิตรบรรจง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แขนงวิชาเคมี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.เสาวณีย์ คำพันธ์ เป็นที่อาจารย์ปรึกษาหลัก รวมถึง อาจารย์ ดร.พลอยทราย โอฮาม่า และผศ.ดร.จิตรลดา ชูมี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในครั้งนี้

อาจารย์ ดร.เสาวณีย์ กล่าวว่า “สำหรับผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่กัมมี่จากไซรัปตาลโตนด” ชิ้นนี้ต้นแบบนวัตกรรมอาหารเพื่อการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าเชิงสุขภาพของน้ำตาลโตนด จากอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผลผลิตต่อยอดโครงการวิจัย “องค์ประกอบทางเคมี โภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำตาลโตนด” ภายใต้แผนงานวิจัย นวัตกรรมน้ำตาลโตนดเชิงสุขภาพผสานวิถีชุมชน อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. ปีงบประมาณ 2563

นางสาวสาวิตรี กล่าวว่า “น้ำตาลโตนดเป็นน้ำหวานจากช่อดอกตาลโตนดที่ผลิตโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนดที่มีจำหน่ายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สดที่ผลิตวันต่อวัน และมีจำนวนจำกัด เนื่องจากปัญหาการขาดผู้สืบทอดอาชีพทำให้มีแรงงานในการผลิตไม่เพียงพอ นอกจากนี้น้ำตาลสดยังมีอายุการเก็บรักษาสั้น บูดและเสียง่าย ต้องเก็บในตู้เย็น ไม่เหมาะกับการขนส่ง และไม่รองรับการขายออนไลน์ ส่วนน้ำตาลปึกหรือที่ชุมชนเรียกว่าน้ำตาลงบนั้นสามารถเก็บได้นาน แต่มีราคาถูก ไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และยังมีรูปแบบที่ใช้งานลำบาก”

“น้ำตาลโตนด อำเภอบางคล้า มีคุณสมบัติเหมาะที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ Functional Food ซึ่งพบว่ามีปริมาณสารฟีนอนิกสูงกว่าน้ำผลไม้ ซึ่งอาจเป็นผลจากกระบวนการเก็บและทำน้ำตาลตามภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งมีการใส่ไม้เคี่ยมในกระบอกรองน้ำตาล และเติมปูนแดงเพื่อตกตะกอนสารแขวนลอยในน้ำตาลสดที่เก็บได้ ในขั้นต้นได้แปรรูปน้ำตาลสดให้เป็นน้ำเชื่อมไซรัป พบว่าไซรัปตาลโตนดที่ผลิตขึ้นมีค่าพลังงานต่ำกว่าน้ำเชื่อมเข้มข้น น้ำผึ้ง และเมเปิ้ลไซรัป และยังมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่ากับน้ำผึ้งอีกด้วย” นางสาวสาวิตรี กล่าว

นางสาวสุกัญญา กล่าวว่า “ผลงาน “Yummy Palmy ผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่กัมมี่จากไซรัปตาลโตนด ได้นำไซรัปตาลโตนดมาวิจัยต่อยอด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่กัมมี่ อาหารสุขภาพแคลอรี่ต่ำ ไม่ผสมน้ำตาลทราย มีรูปแบบที่ตอบโจทย์เป้าหมายกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ยังผสมมะม่วงแท้ 100% ไม่มีการแต่งสีและกลิ่นสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่มะม่วงตกเกรดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มจุดขาย ขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติได้อีกด้วยเป็นการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการการเรียนการสอนเข้ากับการวิจัย ซึ่งนอกจากจะเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นการยกระดับภูมิปัญญาของท้องถิ่น พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้”

“ได้รับคำชื่นชมจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่า เป็นการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์สถาบันของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง” นางสาวสุกัญญา กล่าวในที่สุด

……………………

อรวรรณ สุขมา : ข่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *