O-NET ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ — บทสรุปจากผลสำรวจความคิดเห็นผ่านแฟนเพจ Eduzones และ Wiriyah Eduzones

O-NET ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ — บทสรุปจากผลสำรวจ
O-NET ควรไปต่อหรือพอแค่นี้
— บทสรุปจากผลสำรวจ

การสอบโอเน็ต หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่ต้องการวัดผ่านการจัดการทดสอบในระดับชาติ โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบทั่วประเทศ  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความรู้ของนักเรียนในระระดับชั้นประถมศึกปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ในปัจจุบันกลายข้อสอบชนิดนี้ตกเป็นประเด็นในการถกเถียงอย่างร้อนแรงว่า O-NET นี้มีประโยชน์ต่อนักเรียนจริงหรอ? ข้อสอบชนิfนี้ควรยกเลิกหรือควรไปต่อเช่นเดิม?

.

จากผลการสำรวจผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ Eduzones และ Wiriyah Eduzones โดยเก็บข้อมูลภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565  จำนวนทั้งสิ้น 200 คอมเมนต์ พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

อันดับ 1  ควรยกเลิก โดยผู้แสดงความคิดเห็นกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า

“การสอบโอเน็ตทั้งสร้างภาระในแก่คุณครู ยังสามารถทั้งความเครียดและความกดดันให้แก่นักเรียน”

“ควรยกเลิก ถ้าต้องการวัดคุณภาพครูควรเปลี่ยนเป็นการสำรวจความเห็นนักเรียน และผู้ปกครอง ควรให้เด็กนำเวลาไปปสนใจกับการสอบเข้าโรงเรียนที่จะศึกษาต่อ”

“ไม่มีประโยชน์ เปลืองงบประมาณ”

“ควรยกเลิกเพราะการสอบโอเน็ตกลายเป็นเครื่องมือที่คุณครู หรือผอ.ใช้ไม่ให้น้อยหน้ากว่าโรงเรียนอื่น”

“ควรยกเลิกเพราะเป็นความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นแหล่งหาเงินของสถาบันกวดวิชา”

“ควรยกเลิก และควรเปลี่ยนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศเพราะ O-NET GAT/PAT กลายเป็นการใช้งบประมาณโดยใช้เหตุ มีการนำเงินไปใช้ด้วยเหตุผลในการศึกษาดูงานต่างประเทศแต่ไม่เคยนำกลับมาพัฒนากับระบบการศึกษาไทย”

อันดับ 2 ความคิดเห็นอื่น ๆ ที่ไม่บ่งชี้ว่าควรยกเลิกหรือไปต่อ โดยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ “รื้อทั้งระบบการศึกษา” เป็นจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นคนคิดเห็นนอกเหนือดังนี้

“มีหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องไม่เอามาจัดลำดับครู โรงเรียน หรือผอ.”

“ควรเปลี่ยนให้เป็นการสอบตามความสมัครใจ”

“มีหรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน เพราะต่อให้มีก็ไม่ได้มีการนำข้อมูลมาเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงระบบการศึกษา ส่วนถ้ายกเลิกก็เป็นการปล่อยให้ครูไม่สนใจคุณภาพการสอนของตนเอง”

“ไม่ว่าจะยกเลิกหรือไปต่อ ต้องมีการวางแผนใหม่ก่อนซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับตอนนี้”

“ยกเลิกหรือไม่ยกเลิกก็ได้ แต่ถ้าจะมีต่อต้องจัดในวันธรรมดา ไม่เบียดเบียนวันหยุดของเด็ก”

อันดับ 3 ควรมีต่อไป โดยผู้แสดงความคิดเห็นกลุ่มนี้ให้เหตุผลดังต่อไปนี้

“โอเน็ตควรมีต่อแต่ต้องปรับระบบให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง ไม่ควรมีการให้ติวเพิ่มเติม เพราะจะกลายเป็นทั้งภาระของครูและนักเรียน และจะไม่ใช่การวัดระดับความรู้ในโรงเรียนอย่างแท้จริง”

“ควรมีต่อแค่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้นเพราะใช้เป็นคะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนในระดับชั้นอื่น ๆ ไม่ได้มีความจำเป็น”

“ควรมีเพื่อวัดคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐาน แต่ควรหยุดค่านิยมในการนำคะแนนมาใช้เปรียบเทียบแต่ละโรงเรียน”

“ควรมีเพราะให้เด็กได้วัดระดับความรู้ของตนเอง ไม่งั้นเด็กจะเรียนแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ

“ควรมีต่อแต่ต้องมีเพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน ไม่ใช่มีเพื่อจัดการแข่งขัน”

“ต้องมีเพราะการยกเลิกจะทำให้ครูละเลยการสอน ไม่สนใจที่จะพัฒนาการสอน”

นอกเหนือจากนี้แล้ว ความคิดเห็นบางส่วนยังแสดงให้เห็นว่า แม้ในปัจจุบัน ประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานโอเน็ตว่า การเข้าทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ให้เป็นไปตามความสมัครใจและเป็นสิทธิ์ส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป แต่ก็เป็นอิสระในการเข้าสอบที่ไม่จริง เพราะหลาย ๆ โรงเรียนยังมีการบังคับทางอ้อมด้วยการไม่ออกใบปพ. (เอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ซึ่งจำเป็นต่อการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในอนาคต หากนักเรียนไม่ยอมเข้าสอบ O-NET

.

หากมองให้ลึกจะพบว่าการสอบโอเน็ตนับว่าเป็นการสอบที่มีประโยชน์หากเป็นการสอบที่ถูกนำมาใช้ตามวัตถุสงค์แรก คือ เอาผลคะแนนมาเพื่อใช้ประเมินระบบการศึกษา นำมาพัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากรในระบบการศึกษา โดยที่ข้อสอบนั้นจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับการเรียนการสอนที่มีภายในโรงเรียนเพื่อชี้ให้เห็นจุดกำเนิดของปัญหา แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่าเนื้อหาของข้อสอบโอเน็ตไม่ตรงกับเนื้อหาที่มีตามโรงเรียน ทางรียนเรียนต้องจัดการติวเพิ่มเติมให้กับนักเรียนก่อนสอล นักเรียนหลายคนจำเป็นที่จะต้องลงเรียนเพิ่มเติมเพราะต้องใช้คะแนนสอบในส่วนนี้เพื่อเข้าศึกษาต่อ อีกหนึ่งสิ่งทำให้เกิดการฉุกคิดเกี่ยวกับความจำเป็นข้อสอบโอเน็ตคือประเทศไทยมีการจัดการสอบโอเน็ตมาหลายปีแล้ว แต่ระบบการศึกษายังไม่ดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ครู นักเรียน ข้อสอบ? หรือเกิดจากการที่ผลการประเมินผ่านโอเน็ตในแต่ละครั้งนี้ไม่เคยได้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

ด้านดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระและในฐานะผู้ก่อตั้ง Eduzones ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับ O-NET ไว้ว่า “ปัจจุบันข้อสอบโอเน็ตไม่สามารถวัดอะไรได้ เพราะเกิดความผิดพลาดหลายประการ เริ่มตั้งแต่ให้เด็กทั้งประเทศสอบ ต่อมาคือการนำข้อสอบโอเน็ตไปเป็นเครื่องมือในการวัดว่าโรงเรียนไหนดี โรงเรียนไหนไม่ดี อีกทั้งผลคะแนนโอเน็ตมีผลต่อการกู้กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ที่สำคัญคือการนำเด็กธรรมดาไปจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กพิเศษเพราะไม่ต้องการให้เด็กธรรมดาที่ทำคะแนนได้ไม่ดีมาเป็นตัวถ่วงคะแนนเฉลี่ย ซ้ำยังได้งบประมาณเพิ่มขึ้น”

ดร.วิริยะยังได้เสนอแนวทางแก้ไขการสอบโอเน็ตเพิ่มเติมอีกว่า “ต้องใช้โอเน็ตให้เป็นเครื่องมือมอนิเตอร์โดยการสุ่มการสอบเพื่อวัดประสิทธิภาพในการจัดการระบบการศึกษา ซึ่งวิธีการสุ่มนี้จะช่วยลดงบประมาณ อีกทั้งยังต้องไม่มีการประกาศผลคะแนนหรือใช้ประโยชน์ในการเรียนต่อหรือสอบต่อ แต่ตราบใดที่โอเน็ตยังเป็นรูปแบบเดิมเด็กก็ยังคงต้องติวเพิ่มเติมกันอีกต่อไป”

.

เราอาจสรุปผลจากการสำรวจครั้งนี้ได้ว่าประเด็นหลักของการถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นของการสอบโอเน็ตนี้อาจไม่ได้มาจากการมีข้อสอบชนิดนี้อยู่แต่มาจาก“การจัดสอบโอเน็ตไม่มีรูปแบบที่ตรงกับบริบทเพื่อพัฒนาการศึกษาอีกต่อไป แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา” เพราะแม้จะมีทั้งคอมเมนต์ที่เห็นด้วยกับการไปต่อของข้อสอบโอเน็ต คอมเมนต์ที่ต้องการให้ยกเลิก หรือความคิดเห็นอื่น ๆ นอกเหนือ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 3 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันคือการสอบโอเน็ตต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนรูปแบบการสอบโอเน็ต เนื้อหาต้องเป็นเนื้อหาที่วัดระดับการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ใช่การวัดระดับความพร้อมของแต่ละโรงเรียนในการติวเพิ่มเติม อีกทั้งผลคะแนนต้องใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบ และยกย่องโรงเรียนที่มีผลคะแนนที่สูงกว่า หากข้อสอบโอเน็ตสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้ การสอบโอเน็ตก็จะกลายเป็นข้อสอบที่มีประโยชน์ต่อระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

 

แสดงความคิดเห็นเพิมเติ่มได้ที่

https://www.facebook.com/ajWiriya/posts/501084138039601

https://www.facebook.com/eduzonesdotcom/posts/10159798018616171

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *