เอ็นไอเอ ร่วม 5 สถาบันอุดมฯ ปั้นโครงการเทรนเนอร์แล็บ ติดความรู้ 300 คุณครูผู้ปั้นนวัตกร พร้อมขยายฐานห้องเรียนเพิ่มทักษะนวัตกรรมเยาวชน 10,000 ราย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดตัวโครงการ “STEAM4INNOVATOR Trainers’ LAB การพัฒนาศักยภาพผู้สร้างนวัตกรอย่างเข้มข้น” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างทักษะในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา มุ่งเป้าพัฒนาผู้สร้างนวัตกรกว่า 300 คน เพื่อส่งต่อความรู้และทักษะสู่เยาวชนมากกว่า 2,000 คนในปี 2565 และยังมีแผนขยายผลความร่วมมือให้เข้าถึงเยาวชนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 คน

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชนหรือ NIA กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา NIA มุ่งเป้าพัฒนานวัตกรเยาวชนให้กับประเทศ ภายใต้หลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม STEAM4INNOVATOR ซึ่งเป็นแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ 4 ขั้นตอน ที่มุ่งเน้นกระบวนการให้เยาวชนสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวไปสู่การเป็น นวัตกรบนพื้นฐานของ STEAM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์) และมีมิติการนำแนวความคิดเชิงนวัตกรรมมาทำเป็นธุรกิจ โดยเริ่มปลูกฝังทั้งในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งส่งผลให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมได้อย่างโดดเด่น และสามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม การเป็นนวัตกร สตาร์ทอัพ และอื่น ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ เพื่อขยายผลโอกาสการเรียนรู้ในวงกว้างมากขึ้น NIA จึงได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับ 5 สถาบันการศึกษาที่ครอบคลุมทุกระดับทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ราชภัฎ ราชมงคล และกลุ่มอาชีวศึกษา ในหลายพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีวิทยาเขตครอบคลุม 12 จังหวัด ในภาคเหนือ กลาง ใต้ และมีเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะของวิทยาลัยอาชีวศึกษากระจายตัวทั่วประเทศ เพื่อพัฒนากำลังคนและเสริมสร้างปัจจัยที่สำคัญต่อการเกิดขึ้นของนวัตกร ได้แก่ 1 . Content เนื้อหา 2. Coaching การเป็นโค้ชนวัตกร 3. Connection เครือข่ายที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ และ 4. Cluster เครือข่ายเยาวชน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับบุคลากรของสถาบันฯ และสามารถส่งต่อไปยังเยาวชนได้ ภายใต้โครงการ “STEAM4INNOVATOR Trainers’ LAB การพัฒนาศักยภาพผู้สร้างนวัตกรอย่างเข้มข้น

ด้าน ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 นี้ การทำงานจะมุ่งสร้างความเข้มข้นของ 4C ด้วยการออกแบบแผนพัฒนาผู้สอนและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดกระบวนการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อสร้างทักษะการเป็นนวัตกรให้กับเยาวชนอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ 1. Content การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการ STEAM4INNOVATOR และการใช้เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับผู้สอนหลักหรืออาจารย์แกนนำ สถาบันฯ ละ 6-12 คน 2. Coaching การปรับบทบาทและสร้างศักยภาพการเป็นโค้ชมืออาชีพให้กับครู อาจารย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลจัดการอบรมพัฒนาให้กับนักศึกษาและนักเรียนเยาวชนในวงกว้าง ตั้งเป้าภาพรวม 5 สถาบันฯ จะสามารถสร้างโค้ชได้มากกว่า 300 คนภายในปีนี้ 3. Connection การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาเพื่อร่วมพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมกับเยาวชน และร่วมจัดกิจกรรมนำร่องเพื่อขยายผลการพัฒนาเยาวชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำค่าย การบรรจุลงเป็นรายวิชาในภาคการศึกษาของสถาบันฯ หรือการทำโครงการพิเศษเพื่ออบรมพัฒนาเยาวชน และ 4) Cluster การส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรเยาวชนเพื่อต่อยอดความคิดและประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะมากถึง 2,000 คนในปีนี้ ส่วนแผนการดำเนินการต่อเนื่องในปี 2566 ได้มีการหารือร่วมกันในการขยายผลในเชิงระบบซึ่งจะมีการสร้าง 4C ที่เข้มแข็งขึ้น จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านนวัตกรรมในภูมิภาค เพื่อกระจายความรู้ไปยังเยาวชนและเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันฯ ซึ่งจะเข้าถึงเยาวชนได้มากกว่า 10,000 คนต่อปี”

ทางด้านผู้บริหารสถาบันฯ  ผศ.นิศรา จันทร์เจริญสุข คณบดีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร. ล้านนา) กล่าวว่า “มทร.ล้านนามีพื้นที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุม 6 พื้นที่ในเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก น่าน พิษณุโลก และเชียงราย เราจะมุ่งส่งเสริมบุคลากรของคณะ มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 104 คน เพื่อนำความรู้และทักษะไปพัฒนานักศึกษาที่จะจัดให้เข้ารับการอบรม STEAM4INNOVATOR จำนวน 180 คน ให้มีความพร้อมและมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใต้โจทย์แนวคิดธุรกิจ BCG ในปี 2565 นี้ และมุ่งเป้าจัดให้เป็นวิชาเรียนในคณะฯ ต่อไปในอนาคต”

ผศ.ดร.ชลกาญจน์ วงศ์ก่อทรัพย์ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า มจพ. มีแผนที่จะนำเครื่องมือการคิดค้นนวัตกรรมมาปรับใช้ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดที่ช่วยให้นักศึกษาต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ และเชื่อมั่นว่า STEAM4INNOVATOR จะเป็นกระบวนการที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้มองปัญหาเป็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ และทำให้นักศึกษาสามารถสร้างนวัตกรรมจากช่องว่างที่ผู้อื่นอาจจะมองไม่เห็นได้ โดยในปี 2565 นี้จะเริ่มจัดสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวนไม่ต่ำกว่า 400 คนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต”

รศ.ดร. ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า “มอ. จะพัฒนาอาจารย์แกนนำใน “หลักสูตรวิศวกรรมและการจัดการนวัตกรรม” หลักสูตรนานาชาติ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนาผู้สร้างนวัตกรและถ่ายทอดกระบวนการ STEAM4INNOVATOR ในพื้นที่ภาคใต้ โดยวางแผนริเริ่มโครงการพิเศษ ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อที่จะพัฒนาทักษะกระบวนการดังกล่าวให้กับเยาวชน นักศึกษา และขยายผลให้บริการแนะนำปรึกษาไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไปในอนาคต พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้”

รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรภ. ยะลา) ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบันมรภ. ยะลา ได้พัฒนาเยาวชนไปแล้วทั้งสิ้น 150 คนในช่วงนำร่องโครงการฯ ปี 2564 และครั้งนี้ได้มีการวางแผนดำเนินการพัฒนาเยาวชนทั้งสิ้น 345 คนในโครงการ GenZGenBiz ด้วยกระบวนการ STEAM4INNOVATOR โดยอาจารย์แกนนำและโค้ชนวัตกรของคณะวิทยาการจัดการเอง รวมถึงเครือข่ายอาจารย์จากคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร พร้อมขยายงานไปยังสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี นอกจากนี้ยังได้สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม และภาครัฐในพื้นที่ เพื่อร่วมสนับสนุนโครงการนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของน้อง ๆ เยาวชนด้วย

ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาเเละวิชาชีพ รักษาการในตำเเหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจเเละบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. มีเป้าหมายในการนำหลักสูตร STEAM4INNOVATOR ขยายผลในการอบรมเสริมสร้างผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการอาชีวะสร้างสรรค์แปรฝันสู่ธุรกิจ RRR AWARD โดยสร้างอาจารย์แกนนำและอาจารย์โค้ช รวมกว่า 150 คน เพื่อนำองค์ความรู้กระจายไปสู่ศูนย์บ่มเพาะทั่วประเทศ เป้าหมายสำคัญคือ สร้างทักษะให้แก่เยาวชนอาชีวศึกษาทั่วประเทศมากกว่า 4500 คนในแต่ละปี

NIA และเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั้ง 5 แห่ง มุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนา 4C ให้เข้มแข็ง เป็นต้นแบบในการขยายผลโครงการ “STEAM4INNOVATOR Trainers’ LAB การพัฒนาศักยภาพผู้สร้างนวัตกรอย่างเข้มข้น” ต่อไปยังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อสามารถเข้าถึงน้อง ๆ เยาวชนทั่วประเทศสอดรับกับแผนพัฒนานวัตกรรมภูมิภาคที่มุ่งยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมอย่างทั่วถึง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *