คุยกันเรื่องอาหาร? – รีวิวคณะเทคโนโลยีคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร!

คุยกันเรื่องอาหาร? – รีวิวคณะเทคโนโลยีคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร!
คุยกันเรื่องอาหาร? – รีวิวเทคโนโลยีคหกรรม อาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

 

         ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา น้อง ๆ หลายคนก็ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งการใช้เวลาว่างเหล่านี้เนี้ย พี่ออมเชื่อว่าทำให้น้อง ๆ หลายคนเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อด้านต่าง ๆ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะที่เราได้เจอในสิ่งที่ชอบ พี่ออมคิดว่า การทำอาหาร การทำขนม เป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกยอดฮิตที่น้อง ๆ บางคนอาจจะเพิ่งค้นพบความสามารถของตัวเองหลังจากได้ใช้เวลาไปกับมันใช่ไหมคะ วันนี้พี่ออมจะพาน้อง ๆ ไปพบกับ พี่เบส วัชรินทร์ สายเครือคำ รุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กันค่ะ

 

 

“เราเชื่อว่ามีหลายคนสงสัยนะว่าการเรียนคหกรรม อาหารและโภชนาการแบบเราคือ ต้องทำอาหารเป็นตั้งแต่แรกไหม ต้องทำอาหารอร่อยไหม บอกตรงนี้เลยนะว่าเราก็เป็นคนนึงไม่ได้ทำอาหารเป็นตั้งแต่แรก พอเข้ามาเรียนก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากขึ้นทั้งที่ไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน ถ้าถามว่าตอนนี้ทำอาหารได้อร่อยเลยไหมก็ไม่ได้ขนาดนั้น” วัชรินทร์หยุดหัวเราะก่อนอธิบายต่อ “แต่อย่างน้อยเราก็มีความกล้าที่จะทำอาหารมากขึ้น รู้วิธีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์การเลือกวัตถุดิบให้ถูกหลัก

 

คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

 

วัชรินทร์อธิบายเกี่ยวกับการเรียนคหกรรม อาหารและโภชนาการให้เราฟังว่า “ไม่อยากให้รู้สึกว่าเราทำอาหารไม่เป็นเลยจะมาเรียนคหกรรมแบบนี้ได้จริงหรอ อย่างของมอเราเขาก็เริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐานเลยนะ ตอนที่เราเข้าไปปีหนึ่งเขาก็เริ่มสอนตั้งแต่วิธีการลับมีด การใช้มีด การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องครัวต่าง ๆ การเลือกวัตถุดิบ มั่นใจได้เลยว่าต่อให้คนที่ไม่เคยทำอาหารมาก่อนก็มาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้” วัชรินทร์เงียบไปครู่หนึ่งก่อนอธิบายต่อว่า “แต่ว่าการเรียนคหกรรม อาหารและโภชนาการมันไม่ใช่การเรียนทำอาหารอย่างเดียวนะ มันก็ครอบคลุมตามชื่อคณะเลย เราจะได้เรียนทั้งโภชนาการอาหาร ความปลอดภัยของอาหารในโรงพยาบาล ถ้าถามว่ามันคืออะไร มันก็คือการเรียนเกี่ยวกับอาหารของคนไข้การแยกประเภทชนิดอาหารที่เหมาะกับคนไข้ในแต่ละโรค โรคไตห้ามกินอะไร โรคหัวใจห้ามกินอะไร เรียนเรื่องสารปรุงแต่งและสารแปรรูปที่เป็นอันตรายต่ออาหารในแต่ละชนิด เราสามารถใส่ได้ในปริมาณแค่ไหนที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เอาจริง ๆ พอเรียนอันนี้แล้วมีระแวงเกี่ยวกับการกินอาหารเพิ่มขึ้นนะ เพราะเรารู้ถึงโทษและประโยชน์ของสารแต่ละชนิดว่ามันส่งผลยังไงกับร่างกายบ้าง มารยาทบนโต๊ะอาหาร การแกะสลักผลไม้ การพับผ้าที่เราเคยเห็นตามโต๊ะอาหารในโรงแรม พูดรวม ๆ ก็จะเรียนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับอาหาร”

 

เราไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานอะไรเลยก็ได้ ขอแค่มีความตั้งใจ เพราะอาจารย์จะเริ่มสอนเราตั้งแต่ 0 ไปจนกว่าเราจะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้บอกว่าจบไปแล้วจะต้องทำอาหารอร่อยแน่นอน แต่ว่าอย่างน้อยเราจะมีความกล้าในการอาหารได้ด้วยตนเอง

 

 

วัชรินทร์เล่าให้เราเกี่ยวกับ วิชาอาหารตะวันตก ซึ่งเป็นวิชาโปรดของเธอว่า “วิชาอาหารตะวันตกเป็นวิชาที่เราชอบมากที่สุดเลย เพราะรู้สึกว่ากรรมวิธีในการทำอาหารตะวันตกไม่ยุ่งยากเหมือนอาหารไทย อันนี้ไม่ได้ว่าอาหารไทยนะแต่เป็นความชอบส่วนตัวของเราเฉย ๆ” วัชรินทร์รีบส่ายมือไปมากพร้อมยิ้มร่า ก่อนพูดต่อว่า “นอกจากการทำอาหารแล้วก็เรียนรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เหมือนที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีโอกาสได้ไปสัมผัส หรือไปทานอาหารในโรงแรม เราก็จะเห็นว่าเขามีช้อนส้อมหลายแบบใช่ไหม เราก็จะได้เรียนว่าช้อนประเภทนี้ใช้กับซุปนะ ส้อมอันนี้ใช้กับอาหารประเภทนี้นะ เอาจริง ๆ มันก็คือเรื่องของมารยาทบนโต๊ะอาหารแหละ ส่วนหนึ่งที่เราสนใจก็เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แตกต่างไปจากของไทย เรามองว่าความรู้ในวิชานี้มันน่าสนใจและก็สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”

 

วัชรินทร์ทวนคำถามก่อนตอบให้เราฟังว่า “ถ้าถามว่าแล้วแบบนี้คนที่เขาทำอาหารได้ดีกว่า มีฝีมือกว่าจะได้เกรดดีมากกว่าไหม มันก็มีผลแต่ว่าเล็กน้อยมาก เพราะว่าส่วนใหญ่อาจารย์จะให้สูตรและวิธีทำมาเหมือนกันอยู่แล้ว แล้วเราก็ทำตามสูตรอาหารที่อาหารได้มา ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งเขาก็ให้ทำอาหารกันเป็นกลุ่มอะ เราก็จะได้รสชาติที่เห็นตรงกันว่าอร่อยนะ ไม่ใช้แค่ใช้เราเป็นคนตัดสินเพียงคนเดียว อาจารย์จะมาช่วยดู ไม่ได้ปล่อยให้เราทำเองหมดเลย เพราะงั้นเกรดก็ไม่ได้ออกมมต่างกันมากจนเรารู้สึกเสียความมั่นใจแน่นอน

 

รูปภาพ

 

ในสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้หลายมหาวิทยาลัยปรับรูปแบบการเรียน วัชรินทร์ช่วยเล่าความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เราฟังว่า “สมัยตอนเราอยู่ปี 1 เราก็ต้องเรียนในห้องตามปกติเลยเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป มีเข้าแล็บ เข้าครัวทำอาหารตามปกติ ทั้งพวกครัวไทย พวกครัวเบเกอรี แต่ว่าก็จะเน้นทฤษฎีเป็นหลักก่อนนะ เพิ่งมาเริ่มปฏิบัติเยอะ ๆ ตอนปี 2 พอมีโควิดมา รูปแบบการเรียนการสอนก็เปลี่ยนไป เราก็จะไม่ได้ไปเรียนที่มหาลัย เปลี่ยนมาเป็นเรียนออนไลน์แทน หลายคนก็สงสัยใช่ไหมว่าแล้วแบบนี้จะเรียนทำอาหารได้ยังไง อาจารย์เขาจะส่งสูตรอาหาร วัตถุดิบมา พร้อมแนบวิดีโอมาให้เรา เราก็มีหน้าที่ในการทำตามโดยที่ต้องถ่ายรูป อัดวิดีโอตอนทำอาหารนั้น ๆ ส่งกลับไปให้อาจารย์ประเมินตามเกณฑ์ของเขา ส่วนการสอบก็จะมีทั้งสอบแบบทฤษฎีและสอบปฏิบัติรายบุคคล” วัชรินทร์ยังเล่าความรู้สึกของตัวเองเพิ่มเติมให้เราฟังอีกว่า “เอาจริง ๆ เราค่อนข้างสอบการสอบปฏิบัติรายบุคคลนะ พอคนอื่นได้ยินอาจจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว ไม่กดดันหรอ ในมุมเราเรามองว่าง่ายกว่าตอนเรียนด้วยซ้ำ เพราะเราสามารถเลือกเมนูที่เราชอบ เมนูที่เราถนัด หรือบางครั้งอาจารย์ก็อาจจะให้โจทย์มาเเล้วเราก็ทำตาม เขาก็จะประเมินให้คะเเนนตามหัวข้อต่าง ๆ เราว่ามันก็ได้เปรียบตรงที่เราสามารถเลือกเองได้แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมนูที่เราเคยเรียนมาก่อนหน้านี้แล้ว”

 

 

รุ่นพี่คหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการได้ทิ้งท้ายไว้กับพวกเรา “ไม่อยากให้น้อง ๆ รู้สึกกลัวการเรียนทำอาหารเพราะว่ายังไม่เคยทำ หรือคิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเพราะว่าถ้าแค่เราชอบหรือมีใจอยากจะลองทำอาหารก็สามารถมาเรียนได้ ไม่จำเป็นว่าต้องทำอาหารเก่ง มีพื้นฐานเพราะอาจารย์ที่คณะได้สอนเราต้องแต่เริ่มต้น คอยให้คำปรึกษาได้ดีทั้งเรื่องการเรียนหรือเรื่องการใช้ชีวิตในมหาลัย พวกอุปกรณ์ในการเรียนก็ส่งเสริมให้การเรียนมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อน ๆ แต่ละคนก็ดีคอยช่วยเหลือกันตลอด เป็นคณะที่เรียนสนุกเลยแหละ เรียกง่าย ๆ ก็คือสภาพแวดล้อมดีไม่ทำให้เราเครียด ไม่ทำให้เรากดดันจนเกินไป ใครที่ชอบการทำอาหารแล้วยังไม่มีคณะในใจก็ลองมาเรียนคณะคหกรรมศาสตร์ของมหาลัยเราได้เลย”

 

เราก็เป็นคนนึงที่เคยทำอาหารไม่เป็นเลย ทำอาหารไม่อร่อยเลย แต่อย่าให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ขอแค่รักการทำอาหาร มีใจที่อยากจะทำ ที่เหลือเราจะสามารถเรียนรู้ได้เอง

 

  • วัชรินทร์ สายเครือคำ คณะเทคโนโลยีคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร

ข้อมูลหลักสูตร

– คณะเทคโนโลยีคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

– หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต (ปริญญาตรี 4 ปี)

– ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 13,000 บาทต่อเทอม

– รายละเอียดเพิ่มเติม :

เว็บไซต์ : คลิก

Facebook : คลิก

Twitter : คลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *