สมศ. เปิดไอเดีย “Q-CONSULTANT” ปรับโฉมผู้ประเมินฯ เป็นที่ปรึกษาให้กับสถานศึกษา หลังพบรายงานสถานศึกษาพึงพอใจต่อผู้ประเมินฯ ในระดับดีมาก

สมศ. เปิดไอเดีย “Q-CONSULTANT”ปรับโฉมผู้ประเมินฯ เป็นที่ปรึกษาให้กับสถานศึกษา
พบสถานศึกษาพึงพอใจต่อผู้ประเมินฯ ในระดับดีมาก

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ได้ติดตามผลการปฏิบัติงาน และจรรยาบรรณของผู้ประเมินภายนอกที่ปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,031 คนสถานศึกษาประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก พบว่า ผู้ประเมินภายนอกมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดีมาก ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะ โดยสถานศึกษาได้สะท้อนความเห็นว่าผู้ประเมินภายนอกสามารถนำเสนอจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาได้ตรงตามบริบท มีความเป็นกัลยาณมิตร โดยเฉพาะรูปแบบการประเมินแบบออนไลน์ ที่เป็นการลดภาระ และลดความกังวลของสถานศึกษาในการเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมินได้เป็นอย่างดี
และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สมศ. ก็ยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้ประเมินภายนอกสู่การเป็น Q – Consultant ที่ปรึกษาด้านการศึกษา ด้วยการพัฒนาสมรรถนะให้ผู้ประเมินภายนอกให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้ประเมินภายนอกให้เข้มข้นกว่าเดิม มุ่งเน้นในทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ ได้แก่ ทักษะความรู้ในเรื่องของการประเมิน ทักษะการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี ทักษะการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์สังเคราะห์ และการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา โดยผู้ประเมินภายนอกที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาในแต่ละแห่ง จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องบริบทของสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี พร้อมเน้นย้ำให้ผู้ประเมินภายนอกยึดหลัก “กัลยาณมิตรประเมิน” เป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ สมศ. ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประเมินภายนอกจำเป็นต้องเข้ารับการอบรมจากสถาบัน หรือหน่วยงานภายนอก เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถของผู้ประเมินภายนอกให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
ด้าน นายกีรติ มารเจริญ หัวหน้าภารกิจประเมินและรับรองสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ตั้งแต่ปี 2564 ถูกพัฒนาตามแนวทางการประเมินภายใต้สถานการณ์โควิด – 19 โดยเน้นการให้ความรู้ในเรื่องแนวทางการประเมิน เทคนิคและวิธีการประเมิน พร้อมทั้งมีคำอธิบายวิธีการเขียนเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกได้เข้าใจให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยผู้ประเมินภายนอกทุกคนต้องมีความรู้และความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ก่อนที่จะดำเนินการประเมินจริง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *