พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) เปิดหอศิลป์ ‘รศ.สุวัฒน์’ แหล่งสร้างผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยแนวพุทธศิลป์

พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) เปิดหอศิลป์ รศ.สุวัฒน์ แหล่งสร้างผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยแนวพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้จัดกิจกรรมด้านศิลปะในพื้นที่ชานเมืองกรุง 
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริษัท อมรินทร์ปริ้นติ้ง แอนด์ พับลิ่ชชิ่ง จำกัด (มหาชน) อาจารย์ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ และ พล.อ.อ.สักก์สกล แสงสุกรัตน์วดี ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี พร้อมแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันในพิธีเปิด หอศิลป์ รศ.สุวัฒน์ เพื่อเป็นแหล่งแสดงงานศิลปะ รำลึกในผลงานและความสามารถการรังสรรค์ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยของอาจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และผลักดันให้เป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และจัดกิจกรรมด้านศิลปะให้กับเยาวชน นิสิตนักศึกษา ตลอดจนถึงผู้ที่สนใจงานด้านศิลปะที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี
การร่วมมือกันจัดตั้งมูลนิธิ รศ.สุวัฒน์ โดยกลุ่มเพื่อนศิลปิน อาจารย์ และเพื่อนๆ อาจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ผลงานของอาจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ที่ยังคงเก็บรักษาไว้จำนวนมาก ทั้งที่เป็นภาพวาดงานจิตกรรมด้วยเทคนิคต่างๆ งานประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่มีความสวยงาม โดดเด่น ในการออกแบบรังสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัยแนวพุทธศิลป์ลายน้ำไหลซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีผลงานปรากฎทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อจัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้แก่นิสิตด้านศิลปกรรมที่อาจารย์สุวัฒน์ได้ใช้เวลาทั้งชีวิตเป็นครูศิลปะอบรมสั่งสอนลูกศิษย์มาหลายสิบรุ่น และใช้เวลาอีกส่วนในการสร้างผลงานศิลปะด้วยคติของการเห็นคุณค่าแห่งลมหายใจตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต รศ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563
พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) ประธานมูลนิธิวิมุตติยาลัย ศูนย์วิปัสนาสากล ไร่เชิงตะวัน จังหวัดเชียงรายได้เสวนาธรรม ในหัวข้อเรื่อง “พราวรุ้งแห่งโพธิญาณ” ตอนหนึ่งว่า “อาจารย์สุวัฒน์ เป็นศิลปินรุ่นกลางของจังหวัดเชียงรายที่มีฝีมือเฉิดจรัสมาก ได้สร้างสรรค์ผลงานพุทธศิลป์ที่ทรงคุณค่าในวงการศิลปะไทย เป็นกัลยาณมิตรที่ร่วมกันรับใช้พุทธศาสนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาในทางธรรมโดยที่มีงานศิลปะเป็นแกนกลางที่ดึงดูดให้หมุนรอบกันและกันและใช้ศักยภาพของกันและกันมารับใช้พระพุทธศาสนาผ่านงานพุทธศิลป์ จึงถือเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่รับใช้แผ่นดินและสังคมอันเป็นที่รัก แม้กายสังขารของอาจารย์สุวัฒน์ จะล่วงลับดับไป แต่ผลงานจะยังเฉิดจรัสเป็นพราวรุ้งแห่งโพธิญาณ ผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรม ทัศนศิลป์ วิจิตรศิลป ที่ท่านรังสรรค์เอาไว้สืบไป”
ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่บริเวณหอศิลป์ รศ.สุวัฒน์ ที่มีความสงบเงียบสวยงามเหมาะแก่การสร้างสรรค์งานศิลปะ และเป็นแหล่งการเรียนรู้ จัดกิจกรรม การแสดงงานศิลปกรรมให้กับนิสิตนักศึกษา ประชาชน และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมผลงานของ รศ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ร่วมกิจกรรมด้านศิลปะ หรือท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่ชานกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมหอศิลป์ รศ.สุวัฒน์ ได้ตามเส้นทางเลียบคลอง 11 ถนนรังสิต-นครนายก อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ทุกวันเว้นวันจันทร์ ระหว่างเวลา 10.00 – 17.00 น.
.
.
.

ประวัติและผลง

รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

จากตระกูลสล่าอำเภอพาน อันมีคุณตาและคุณพ่อเป็นช่างฝีมือต้นแบบมาแต่เยาว์วัย  ผสานกับสิ่งแวดล้อมของเมืองศิลปินของจังหวัดเชียงราย ที่มีครูบาอาจารย์ พี่น้องศิลปินรุ่นต่อรุ่นคอยบ่มเพาะ สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจในเส้นทางศิลปะ อันก่อเกิดเมล็ดพันธุ์ที่งอกงาม ซึ่งได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของอาจารย์สุวัฒน์ อย่างชัดเจนในเวลาต่อมา

เกิด                         ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๔  จังหวัดเชียงราย

ที่ทำงาน                   อาจารย์ ประจำสาขาวิชาศิลปะไทย ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ตำแหน่งทางวิชาการ      รองศาสตราจารย์

การศึกษา   ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยบูรพา ปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาจิตรกรรมไทย คณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

ปวส. วิทยาเขตเพาะช่าง สาขาจิตรกรรมไทย

ปวช. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย

รางวัลเกียรติยศ

– ๒๕๖๓         ได้รับรางวัล “ศิษย์เก่าแผ่นทอง” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

– ๒๕๖๒          ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น ด้านสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ ระดับนานาชาติจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

– ๒๕๖๒          ได้รับรางวัล นักวิจัยที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๑ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

– ๒๕๖๑          ได้รับรางวัล “เพชรกนก” รางวัลเชิดชูเกียรติคนดีศรีแผ่นดินโดย สมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียง

– ๒๕๖๑          ได้รับรางวัล เข็มกิตติคุณเชิดชูเกียรติ จากองคมนตรี เนื่องด้วยให้การสนับสนุนกิจกรรมของ

โรงเรียนชาวนา มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ณ ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน

– ๒๕๖๑          ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ นวัตกรรมสร้างสรรค์ พระแม่โพสพ เทพีแห่งข้าว Bronze

Medal Award จากงาน 46th International Exhibition of Innovations Geneva 201 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 2018

– ๒๕๖๐          ได้รับรางวัล “เพชรราชธานี” สาขาทัศนศิลป์ งานเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม โดย สํานักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

– ๒๕๖๐          รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

– ๒๕๔๔           รางวัลที่ ๑ เหรียญทองจิตรกรรมแบบไทยประเพณี จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ ๒๕ ธนาคารกรุงเทพ  จำกัด

– ๒๕๔๓          รางวัลโล่ผลงานสร้างสรรค์ดีเด่น สาขาศิลปกรรม งาน “ราชมงคลวิชาการ”

– ๒๕๔๒          รางวัลชนะการประกวดภาพร่างต้นแบบทัศนศิลป์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๖ รอบ ขยายใหญ่ติดตั้ง ณ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ

– ๒๕๔๑           รางวัลศิษย์แผ่นทอง คณะศิลปะประจำชาติ วิทยาเขตเพาะช่าง

– ๒๕๓๖          รางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดง จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ ๑๗ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด

– ๒๕๓๕           ได้รับเลือกเข้ารับทุนเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ วังปลายเนิน

– ๒๕๓๒           รางวัลที่ ๑ ออกแบบของที่ระลึก จ.เชียงราย สำนักงานจังหวัดเชียงราย

– ๒๕๓๑          รางวัลเกียรติยศเหรียญบรอนซ์ จากประเทศตุรกี

– ๒๕๓๐          รางวัลที่ ๑ ประกวดประดิษฐ์ภาพจากดวงตราไปรษณียากร โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย

…………………

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *