“รู้เท่าทันสื่อ”ภูมิคุ้มกันเยาวชนไทยในโลกยุคดิจิทัล

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) ได้เดินหน้าจัดโครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” พร้อมปูพรมเดินสายไป 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาค ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟัง เสนอข้อคิดเห็นอันจะนำไปสู่การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าโรดแมปการขยายเครือข่ายขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึง เข้าใจ รู้เท่าทันสื่อ และสร้างนิเวศสื่อที่ดียิ่งขึ้นในสังคมไทย โดยนำร่องจัดงาน “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ครั้งที่ 1 ภาคใต้ ที่โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่ามกลางความสนใจของ ภาคีเครือข่าย องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานตลอดทั้งวันทั้งกิจกรรมเสวนาเชิงวิชาการ และกิจกรรมประชุมระดมสมองและอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ด้านการผลิตและเผยแพร่สื่อ การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ในปี 2565 เป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี การผลิตสื่อในเชิงบวก การใช้สื่อเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ทั้งนี้โดยในปัจจุบันนอกจากการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปในบทบาทของสื่อคือเรื่องของ Soft Power เพราะสื่อไม่ได้ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ และสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างการมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ สื่อกำลังจะขับเคลื่อนและเป็นตัวนำในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องของ Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องการใช้สื่อในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต

“กองทุนสื่อ มุ่งหวังให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตและผู้รับสื่อที่ดี รู้เท่าทันสื่อร้าย ขยายสื่อดี และการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเป็นกลไกสําคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี เป็นสื่อที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ปลอดภัย เช่น ข่าวปลอม (Fake News) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และการนําเสนอความรุนแรงประเภทต่าง ๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบในสังคม” ดร.ยุพา กล่าว

โดยภายในงานนอกจากจะได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากที่น้อง ๆ ได้เข้ารับการอบรมตลอดทั้งวัน

นายยศวีร์ กาญจนนารีรัตน์ หรือ เส้นใหญ่ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา เล่าว่า

“ปัจจุบันผมรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านยูทูปเป็นหลัก และยอมรับว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดและสภาพจิตใจ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเรา ทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า ผมก็จะพยายามไม่เสพสื่อนั้น ๆ แต่จะเลือกเสพสื่อที่ให้ทั้งความสนุกและความรู้ และอยากให้ผู้ผลิตสื่อหรือผู้ที่แชร์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ควรจะต้องไตร่ตรองก่อนที่จะสื่อสารออกมา ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อคนดู และอยากให้ทุก ๆ คนใช้สื่ออย่างระมัดระวัง และมีการคัดกรองสื่อก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ต่อไปให้ผู้อื่น การได้เสพสื่อที่เป็นเรื่องจริง เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อตัวเองและสังคมอยู่แล้วครับ

สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ทำให้ผมได้รับความรู้และทักษะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคิดและตัดสินใจว่าสื่อนี้ดีหรือไม่ดี และการที่เราจะสื่อสารหรือแชร์ข้อมูลอะไรออกไปต้องคำนึงถึงหลักการ 3G คือ ดีต่อตัวเรา ดีต่อผู้อื่น และดีต่อสังคมด้วยครับ”

 

ด้าน “ป๊อกแป๊ก – นางสาวอภิญญา ใจสว่าง” อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา บอกกับเราว่า

“โดยปกติแล้วหนูจะเป็นคนที่อ่านข้อมูลและข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็มีทั้งสื่อที่ดีและไม่ดี แต่ไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็น แค่รับรู้เท่านั้น อาศัยการอ่านเยอะ ดูเยอะ เมื่อค่อนข้างมั่นใจแล้วจึงจะเชื่อและมีการแชร์ต่อไปให้ผู้อื่นบ้าง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้หนูเข้าใจและช่วยปรับมายด์เซ็ตได้เยอะมาก ๆ โดยเฉพาะการตัดสินใจและการคัดกรองสื่อที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังได้ข้อคิดการนำเสนอ Soft Power ซึ่งเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรม ศิลปะ ภูมิปัญญา และอาหารไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ในการโปรโมทประเทศไทย ในกรณีของมิลลิ แร็ปเปอร์ชาวไทยที่ขึ้นแสดงบนเวทีงานเทศกาลดนตรี Coachella พร้อมโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงทำให้กระแสข้าวเหนียวมะม่วงดังไปทั่วโลก เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ซึ่งเราในฐานะเยาวชนก็สามารถเป็นตัวแทนและนำเสนอเรื่องราวดี ๆ ในท้องถิ่นของเราไปเผยแพร่ได้เช่นกันค่ะ”

 

ปิดท้ายกันที่ “หมูแฮม – นางสาวณัฐนันท์ เชื้อเหล่าวานิช” อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา ร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับสื่ออย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เราเข้าถึงสื่อได้ง่ายมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ แต่ปัญหาที่พวกเรามักเจอก็คือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย เช่น การพนันออนไลน์ ข่าวปลอม การบูลลี่กันในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการใช้ถ้อยคำและความรุนแรง ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่พวกเราซึ่งเป็นเด็กจะต้องรู้เท่าทันสื่อ ไม่หลงเชื่อเนื้อหาที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังในทันที แต่ต้องคิดก่อนและตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่จริง ใครเป็นคนให้ข้อมูล เขาต้องการสื่ออะไรหรือมีอะไรแอบแฝง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้พวกหนูได้รับข้อคิดเรื่องข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ว่าต้องคิดให้ดีก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะโพสต์ และก่อนที่จะแชร์ค่ะ”

 

สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะเป็น “พลัง” สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความหมายของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ มีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นผู้รับสื่อที่ฉลาด รู้เท่าทันสื่อ และสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *