PISA ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร ?

ในรอบ 10 ปีมานี้ เราต่างพูดถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นทุกวัน อาจเป็นเพราะสินทรัพย์ของคนไทยมากกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุด ซึ่งเป็นคนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด และเราก็กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’

ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมทั่วโลกที่ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรี อาจเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ช่วยให้คนที่มีเงินมากหาเงินง่าย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้น้อยจะหาทางที่จะเพิ่มรายได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมเชื่อว่า ถ้าเราวัดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศไทย เราคงมี ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สูงระดับโลกเช่นกัน โอกาสของกลุ่มคนรายได้น้อยจะเข้าเรียนในโรงเรียนดี ๆ ได้ยากมาก นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มรายได้สูง

เราคงเคยได้ยินเรื่องของ การสอบ PISA ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำโดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) และมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการนี้จำนวนมาก ทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก โครงการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การสอบเพื่อวัดคุณภาพการจัดการศึกษาของนานาชาติ แต่ยังมีการวิจัยเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย

การสอบ PISA เป็นการประเมินเด็กอายุ 15 ปีว่า มีความรู้ มีทักษะที่จะสามารถใช้ชีวิตและทำงานในอนาคตได้ดีเพียงใด งานวิจัยของ OECD ผ่านข้อสอบ PISA ชี้ชัดว่า แม้การศึกษาที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ แต่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีทรัพยากรน้อยก็สามารถทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีได้ และมีความเป็นเลิศทางการศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากการใช้จ่ายที่สูงเสมอไป เรื่องนี้สำคัญมากต่อประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงระดับโลก เพราะถ้าเราสร้างการศึกษาที่มีดี และมีความตั้งใจในการกระจายโอกาส นั่นคือ การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนที่ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ เราก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้มาก เพราะสำหรับเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ นั่นคือ ทางเดียวของเขาที่จะยกระดับรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่และฐานะของครอบครัว

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อหาข้อมูลความรู้ นำมาสู่การนำเสนอนโยบาย แนวทางจัดการ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะยากจน ด้อยโอกาส หรืออยู่ห่างไกล ถ้าเรามีนโยบายที่ดี มีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ทั้งในระดับกระทรวงและโรงเรียน เราก็จะสามารถช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย

ข้อค้นพบของโครงการ คือ การที่นักเรียนมีสมรรถนะต่ำนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงอันใดอันหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการสะสมของอุปสรรคและการด้อยโอกาสที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาตลอดชีวิต การวัดสมรรถนะของเด็กอายุ 15 นั้น คือตัวชี้ว่า เขาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเพียงใด และการศึกษาที่ได้รับไม่ได้เป็นเพียงแค่ระบบของโรงเรียน แต่มันหมายถึงครอบครัวและสังคมอีกด้วย เด็กที่ครอบครัวยากจนมักจะได้รับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพและเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนก็จะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเด็กทั่วไป นั่นคือ ภูมิหลังของนักเรียนจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนทุกคน

ผลการศึกษาในกลุ่มประเทศใน OECD พบว่า โรงเรียนที่นักเรียนมีสมรรถนะตํ่าจํานวนมาก มักจะเป็นโรงเรียนที่มีทรัพยากรทางการศึกษาน้อยกว่าและขาดแคลนครูมากกว่า นักเรียนที่มีสมรรถนะตํ่ามักจะมีความพยายาม แรงจูงใจ และความมั่นใจน้อยกว่านักเรียนที่มีสมรรถนะดีกว่า และนักเรียนที่มีสมรรถนะตํ่ามักจะการขาดเรียนมากกว่าอีกด้วย ดังนั้น แค่เพียงการสนับสนุนของครู และการให้กำลังใจจากครูและโรงเรียน จะช่วยให้เด็กมีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นการช่วยสร้างความเสมอภาคซึ่งครูทำได้ 

จากรายงานการวิจัยของ OECD ผ่านข้อสอบ PISA ได้เสนอว่า ผู้กําหนดนโยบายควรกำหนดให้การจัดการปัญหาที่นักเรียนมีสมรรถนะตํ่า (ซึ่งในประเทศไทย มีจำนวนนักเรียนที่มีสมรรถนะต่ำเป็นจำนวนมาก) ให้เป็นนโยบายที่มีความสําคัญอันดับต้น ๆ ประเทศที่มีการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาที่ดี คือมีความเสมอภาคมากกว่า จะช่วยแก้ปัญหาที่นักเรียนมีสมรรถนะต่ำลดลง

การสอบ PISA แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในการศึกษาปฐมวัยทําให้เกิดผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ในทางตรงกันข้ามการลงทุนในตอนที่นักเรียนตามคนอื่นไม่ทันแล้ว มักมีต้นทุนในการดําเนินการสูงกว่าและมีประสิทธิภาพตํ่ากว่า แม้ว่าการพัฒนาทักษะจะสามารถทําได้ในทุกช่วงอายุก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการสอบ PISA แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวที่มีรายได้สูงมักลงทุนในการศึกษาโดยการซื้อหนังสือ ส่งลูกเข้าศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพสูง มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เข้มข้น และการสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวเมื่อจําเป็น ในขณะเดียวกัน ครอบครัวรายได้ตํ่า ผู้ปกครองไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูและสนับสนุนความต้องการของเด็ก อีกทั้งประสบการณ์ความยากจนในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นตอนต้นมักจะส่งผลให้ทักษะด้านสติปัญญา (cognitive) พัฒนาได้ช้ากว่าและมีสุขภาพที่แย่กว่า นั่นคือเหตุผลที่ทําให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหัวใจสําคัญของการสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เด็กควรได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาที่ดี จากการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลทางสังคมคือ นักเรียนที่ยากจนจะมีโอกาสใช้ความตั้งใจ ความพยายามในการเรียน และประสบความสำเร็จได้ แม้จะมีพื้นฐานรอบครัวที่ยากจน การศึกษาที่ดีไม่ใช่มีไว้แค่สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย

เราอาจต้องทบทวนวิธีการจัดงบประมาณของเราที่ไม่สอดคล้องกับข้อเสนอนี้ เช่น นโยบายเรียนฟรีแบบทั่วถึง จนถึงมัธยมปลาย แต่เป็นการเรียนฟรีที่มีคุณภาพแตกต่างกันมากในโรงเรียนห่างไกลและโรงเรียนในเมือง เราใช้ระบบงบประมาณรายหัว ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากได้งบประมาณสูงมาก ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยได้งบประมาณต่ำเกินกว่าจะจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ เราอาจจะคิดว่าการเท่ากันคือความเท่าเทียม แต่การเท่ากันแบบนี้ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะเท่ากัน (Equality) ไม่ใช่ ความเสมอภาค (Equity)

ในประเทศส่วนใหญ่ มีนโยบายการศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงเด็กแรกเกิด เขาสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถให้การศึกษาและจัดสรรงบประมาณกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งมีนโยบายเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

OECD ได้นำเสนอแนวคิดอีกหลายเรื่องเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การเสนอโปรแกรมพิเศษสําหรับนักเรียนที่เป็นผู้อพยพ นักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อย และนักเรียนในชนบท การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัย นอกเหนือจากนี้แล้วยังจัด โครงการ PISA for school เพื่อช่วยพัฒนาในระดับโรงเรียน ซึ่งกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษาของไทย (กสศ.) ได้เข้าร่วมโครงการและนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้โรงเรียนมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยสร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนได้รับการศึกษาที่ดีได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะมีฐานะแตกต่างกันอย่างไร

ผลลัพธ์ของโครงการ PISA for school แสดงให้เห็นว่า ภายในโรงเรียนเดียวกันก็สามารถบรรลุถึงความเป็นเลิศทางการศึกษาและความเสมอภาคได้ นั่นคือ นักเรียนสามารถเป็นผู้ที่ประสบความสําเร็จในระดับสูงได้ ในขณะที่ผลกระทบทางฐานะครอบครัวมีผลต่อสมรรถนะของพวกเขาเพียงเล็กน้อย การวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะบางอย่างที่ช่วยให้นักเรียนด้อยโอกาสประสบความสําเร็จ เช่น โรงเรียนที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัย (Disciplinary climate) ที่ดีกว่าจะมีความเป็นไปได้ที่นักเรียนด้อยโอกาสจะมีสมรรถนะดีกว่าโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย การเรียนที่มีระบบระเบียบเป็นประโยชน์กับนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มีความเสี่ยง ระบบระเบียบจะช่วยให้นักเรียนจะสามารถตั้งใจและจดจ่ออยู่กับบทเรียน และครูจะสามารถให้คำแนะนําที่ไม่ช้าหรือเร็วเกินไปได้ บรรยากาศ (เชิงบวก) ของโรงเรียนเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเรียนของนักเรียนที่ด้อยโอกาส และเรื่องที่น่าสนใจมากคือ ผลการเรียนมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับจํานวนทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรวัตถุที่มีอยู่ในโรงเรียนของพวกเขา

ถึงเวลาที่เราต้องกล้าเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ถ้าเราเห็นความสำคัญของลูกหลานและการเปลี่ยนแปลงที่จะได้ผลนั้นต้องไม่ใช่คิดแบบเก่า ทำแบบเดิม แต่ต้องใช้ข้อมูลจริง ใช้ความรู้และความตั้งใจจริงของทุกภาคส่วนโดยมีจุดหมายร่วมกัน นั่นคืออนาคตของประเทศ 

อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *