PISA เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ?

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลก ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ สังคม และอาชีพการงาน แต่เรื่องที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากและเป็นความกังวลของคนทั่วโลก นั่นคือ การเรียน การสอน และการวัดผล ที่ทำกันมาหลายร้อยปี

 

วันนี้เรารู้ว่า การศึกษา ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆแล้ว 

 

จากความรู้ที่เคยหายาก แต่ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงคนในโลกด้วยข้อมูลมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถสร้างเนื้อหาและเผยแพร่สู่โลกได้ง่าย ๆ ด้วยแพลตฟอร์ม เช่น Youtube Facebook และสังคมออนไลน์อื่น ๆ ส่งผลให้ความรู้ต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย นักการศึกษา ครู อาจารย์ สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เหล่านี้ สร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ช่วยให้คนที่ต้องการเรียน สามารถจะเรียนได้จากทุกที่ทุกเวลาด้วยเครื่องมือราคาถูก ขอเพียงแค่มีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

เด็กประถม มัธยมทั่วโลก สามารถเข้าไปเรียนใน Khan Academy ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่รวบรวมเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ไว้มากมาย มากกว่าโรงเรียนใด ๆ ในโลก ใน Khan Academy มีทั้งคลิปการสอน animation สวยงามเข้าใจง่ายให้เด็กได้เรียนเอง ยังมีคู่มือช่วยครู คู่มือช่วยผู้ปกครองให้สนับสนุนการเรียน นอกจากนั้นยังมีแบบฝึกหัด และระบบ AI ที่ทำหน้าที่เหมือนติวเตอร์ส่วนตัวให้นักเรียนทุกคน หลายปีที่ผ่านมามีคนจากทั่วโลกใช้งาน Khan Academy มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่คนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่นักเรียนและคุณครูทั่วโลกต่างเข้าไปใช้ได้ง่าย ๆ เพราะมีการแปลบทเรียนต่าง ๆ ไปหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย

ในส่วนของความรู้ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วโลกก็ตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ หลายมหาวิทยาลัยได้สร้างและเผยแพร่บทเรียนออนไลน์ให้คนทั่วไปได้เรียนฟรี เช่น เราสามารถหาความรู้ใหม่ๆ จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจาก Coursera Udemy Edx Teachable และ Massive Open Online Courses (MOOCs) อื่น ๆ อีกมาก ซึ่งมีทั้งแบบให้เรียนฟรีและมีเกียรติบัตรสำเร็จการศึกษา รวมทั้งสามารถเรียนจนจบปริญญาได้

 

ประเด็นที่คนสงสัยและตั้งคำถาม คือ ระบบโรงเรียนแบบเดิมและมหาวิทยาลัยแบบเก่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?

กลุ่มที่ออกมากระตุ้นเรื่องนี้กลุ่มแรก ๆ คือ ภาคีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 the Partnership for 21st Century Skills (P21) ซึ่งเป็นความร่วมมือของธุรกิจชั้นนำของอเมริกา ผู้นำด้านการศึกษาและผู้กำหนดนโยบาย ภาคีได้ยืนยันว่า เทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปมาก และต้องการคนที่มีทักษะต่างจากเดิม ซึ่งเรียกว่า ทักษะศตวรรษที่ 21 แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เข้ามาทำงานแทนคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปฝาก ถอนเงินที่ธนาคาร เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เราจ่ายภาษีได้จากโทรศัพท์มือถือ ปัญญาประดิษฐ์ AI (artificial intelligence) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง IoT Internet of Things และ หุ่นยนต์ ROBOTIC ทำให้รูปแบบการทำงานต่าง ๆ เปลี่ยนไปมาก และความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรม การทำงาน และการใช้ชีวิต

ข้อสรุปของภาคี คือ เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอน และวิธีการสอบ ที่เน้นเนื้อหา ให้เป็นการสอนเพื่อสร้างทักษะใหม่ให้ผู้เรียน นั่นคือ ทักษะในการคิด ทักษะในการทำงาน ทักษะในการสื่อสาร ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยจากการเรียนการสอนและการสอบแบบเดิม

เช่นเดียวกับทางสภาสหภาพยุโรป Council of the European Union ได้ทำวิจัย เรื่อง งานในอนาคตและคุณสมบัติของคนที่พร้อมจะทำงานอนาคต ซึ่งผลออกมาคล้ายกัน คือ เขาต้องการทักษะอนาคต Future skill พร้อมเรียกร้องให้ภาคการศึกษาพัฒนาคนให้มีทักษะและความสามารถในทำงานที่ต่างจากเดิม เราไม่ต้องการคนทำงานแข่งกับระบบหุ่นยนต์ ไม่ต้องการคนคำนวณแข่งกับคอมพิวเตอร์ แต่เราต้องการคนที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ 

ในช่วง 20 ปีนี้ จึงนับได้ว่าเป็นช่วงที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา มีการจัดทำหลักสูตรใหม่ จัดอบรมสัมมนาให้ครูอาจารย์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนเพื่อสร้างทักษะแห่งอนาคต เกิดรูปแบบการสอนใหม่มากมาย เช่น การสอนแบบปัญหาเป็นฐาน การสอนแบบกิจกรรมเป็นฐาน การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน การสอนแบบ STEM ซึ่งทั้งหมดนี้คือ การสอนแบบตื่นตัว (Active Learning) โดยรูปแบบการสอนใหม่ ๆ เหล่านี้ มีหลักการคล้ายกัน คือ การให้ผู้เรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายหลักคือ พัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะในการทำงานอนาคต

โลกของการสอนปัจจุบันอาจแบ่งง่าย ๆ เป็นสองแบบคือ แบบดั้งเดิม และแบบตื่นตัว (Active Learning) โดยในการสอนแบบเดิม ผู้สอนจะถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนโดยการบรรยายและสาธิต ส่วนในการวัดผลจะใช้วิธีวัดว่าผู้เรียนสามารถจดจำความรู้นั้นได้มากน้อยเพียงใด แต่สำหรับการสอนแบบตื่นตัวนั้น จะเน้นให้ผู้เรียนค้นหาความรู้ ทำกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้คิด นำความรู้มาแก้ปัญหา และมีการนำเสนอผลงาน ด้วยวิธีสอนรูปแบบใหม่นี้ เราคาดว่าผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการค้นหา การคิด การทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของลักษณะงานและมีคุณสมบัติในการใช้ชีวิตในสังคมใหม่

ระบบการเรียนการสอนและการวัดผลในโรงเรียน ซึ่งทำกันมาแบบเดิมหลายร้อยปี จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ เพราะครูอาจารย์ต่างก็เรียนจบมาด้วยระบบการสอนการวัดผลแบบเดิม และเมื่อมาเป็นผู้สอนก็ใช้วิธีการสอนแบบนั้นมานาน การจะแก้ปัญหานี้เป็นความท้าทายอย่างมากในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เมื่อครูอาจารย์พยายามเปลี่ยนการสอนเป็นแบบตื่นตัว แทบทุกคนจะพบกับปัญหาใหญ่สองเรื่อง

หนึ่ง การสอนแบบตื่นตัว ใช้เวลาให้ผู้เรียนทำกิจกรรมมาก จนผู้สอนไม่สามารถสอนเนื้อหาให้ครบตามหลักสูตรได้

สอง การสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อและการสอบระดับชาติ ยังคงเป็นการวัดผลที่เน้นการจดจำเนื้อหา

การเปลี่ยนการสอนจึงเป็นความท้าทายของทุกประเทศ และปรากฏการณ์ที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มาก คือ การสอบ PISA ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Program me for International Student Assessment หรือ PISAการสอบ PISA จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรีย, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, อังกฤษ, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา ,นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ ฯลฯ เขาจัดการสอบ PISA มาเพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ขออธิบายอย่างนี้ละกันครับ เหมือนเมื่อก่อน การเราสอนให้เด็กปาก้อนหิน และสอบปาก้อนหิน ถ้ามีเด็กปาได้แม่นยำจำนวนมาก นั่นหมายถึง การจัดการสอน เรามีคุณภาพ แต่ตอนนี้ เราฝึกเด็กให้ คิด วางแผน และใช้เครื่องมือต่าง ๆ แทนการปาก้อนหินแบบเดิม ถ้าเราสอบปาก้อนหิน ถึงเด็กจะปาแม่น แต่มันก็ไม่บ่งบอกว่าการสอนของเรามีคุณภาพ เราจึงต้องเปลี่ยนการสอบ และ PISA คือการสอบที่จะวัดคุณภาพการศึกษาแบบใหม่นี้ได้ครับ

หลังจากมีการสอบ PISA ทำให้ประเทศต่าง ๆ ประเมินคุณภาพการศึกษาของตนได้ คือ ถ้ามีการเปลี่ยนการสอนเป็นแบบตื่นตัวได้มาก คะแนนจากการสอบ PISA ก็จะสูง แต่ถ้ายังปาก้อนหินกัน คะแนนจากการสอบ PISA ก็จะต่ำ เพราะข้อสอบ PISA ต่างจากข้อสอบแบบเดิม คือข้อสอบ PISA ไม่ได้เน้นไปที่การวัดความจำ แต่เน้นไปที่การวัดความคิด และการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ดังนั้น การท่องหนังสือเพื่อไปสอบ PISA จึงได้ผลน้อย แต่ถ้ามีการสอนแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด ฝึกอ่าน ค้นคว้า เด็กที่เรียนด้วยวิธีใหม่ คือการเรียนแบบตื่นตัวนี้ จะทำข้อสอบ PISA ได้คะแนนดี

ผลของคะแนนสอบ PISA ทำให้คนทั่วโลกสนใจการสอนของฟินแลนด์ เพราะที่ฟินแลนด์เด็กเรียนอย่างมีความสุข ไม่มีการวัดผลโดยข้อสอบระดับชาติ ไม่มีเกรด ใช้เวลาเรียนน้อย ไม่เน้นเนื้อหามากมาย แต่ใช้กิจกรรมนำการเรียนรู้ คือสอนแบบตื่นตัว เด็กฟินแลนด์ทำคะแนนการสอบ PISA สูงระดับ 1-3 ของโลก มาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศเรา ตั้งแต่ครั้งแรกที่ขอเข้าร่วมสอบ ก็ปรากฏว่า คะแนนการสอบ PISA ต่ำระดับโลก ต่อเนื่องจนถึงการสอบครั้งล่าสุดก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีคะแนนสูงขึ้นเลย ได้ยินบางคนเสนอว่า เราต้องติวเพื่อข้อสอบ PISA โดยเฉพาะ ถ้าเราติว เพื่อข้อสอบ PISA ก็เหมือนเรายังไม่เลิกปาก้อนหินนั่นแหละครับ แค่เปลี่ยนการสอนและการวัดผล เราก็จะมีการศึกษาที่มีคุณภาพ และคะแนนการสอบ PISA จะสูงขึ้นมาเอง

นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนมากกว่า นักเรียนประเทศที่อยู่ใน OECD ครูไทยมากกว่า 60% เป็นครูที่มีวิทยะฐานะสูง แต่เด็กเรามีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกว่าประเทศใน OECD มากเพราะอะไร ?

 

การสอบ PISA ไม่ใช่การวัดความจำเนื้อหาแบบเดิมแต่เป็นการวัดสมรรถนะ คือ การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ในขณะที่การเรียนการสอนและการสอบของเราเก่าเกินไป

ลสอบ PISA ของนักเรียนบ่งบอกถึงคุณภาพการจัดศึกษาและอนาคตของประเทศ เพราะผลการสอบของเด็กจะบ่งบอกถึงสมรรถนะในการทำงานอนาคต เด็กที่มีระดับคะแนนสูงจะมีความสามารถทำงานระดับสูงในอนาคตได้ ดังนั้นหลายประเทศจึงใช้ผลสอบนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

การสอบ PISA ไม่ใช่แค่การวัดสมรรถนะด้านการอ่านด้านวิทยาศาสตร์และด้านคณิตศาสตร์ เท่านั้นแต่มีการพัฒนาการประเมินไปเรื่อย ๆ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การวัดผลสมรรถนะในการอ่าน ก็มีการเน้นไปที่การอ่าน ค้นคว้า บนโลกออนไลน์ การแยกแยะระหว่าง ความคิดเห็นและข้อมูลจริง เป็นต้น

ในปี 2008 มีการสอบ global competence คือสมรรถนะในการเป็นพลเมืองโลกด้วยสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงคนหลากหลายชาติเข้าด้วยกัน ทำให้สมรรถนะนี้มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคต และในปีนี้ การสอบ PISA ก็จะมีการสอบสมรรถนะในการคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

นอกจากการสอบวัดสมรรถนะแล้ว ยังมีโครงการ PISA for Schools ซึ่งเป็นโครงการกับโรงเรียนที่เข้าร่วมการสอบ PISA ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา จากการวิจัยในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงเรียน การมีส่วนร่วมของสังคม การลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย

อ. วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *