PISA ลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้อย่างไร ?

สังคมเรา มองการกลั่นแกล้งกันเป็นเรื่องปกติ เมื่อก่อนเด็กแกล้งกันในโรงเรียนก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ เพราะเราคิดกันว่า เป็นแค่การล้อเล่นไม่เป็นไร

คนที่มีความพิการก็จะถูกล้อเลียน นำเอาความพิการมาเป็นเรื่องตลก ใครมีปมด้อยอะไร ถ้ามีคนรู้ก็จะนำมาพูดล้อเลียน เราเรียกเพื่อนว่าไอ้เหล่ ไอ้เป๋ หรืออีดำ ได้แบบสบายใจ บางทีครูเองก็เรียกนักเรียนว่า อ้วน ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่ได้ชื่ออ้วน เราเอาความจน เอาเรื่องครอบครัวแตกแยก แม้กระทั่งความเชื่อทางศาสนา มาล้อกัน โดยเราไม่รู้ว่านั่นคือ การบูลลี่โดยคำพูด ซึ่งส่งผลต่อผู้โดนกระทำมากกว่าที่เราคิด

จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2563 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน มีเด็กถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่ และผลกระทบจากการถูกบูลลี่ ส่งผลให้เด็กคิดโต้ตอบหรือต้องการเอาคืนถึง 42.86 เปอร์เซ็นต์ มีอาการเครียด 26.33 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสมาธิกับการเรียน 18.2 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากไปโรงเรียน 15.73 เปอร์เซ็นต์ เก็บตัว 15.6 เปอร์เซ็นต์ และมีอาการซึมเศร้า 13.4 เปอร์เซ็นต์

 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) โดยนำเสนอเรื่อง “บูลลี่ (Bully)” ว่ามักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลัง หรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า และมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ ๆ

การบูลลี่มี 3 ประเภทคือ

  1. การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น, เหยียด, เหน็บแนม และขู่ รวมทั้งการบูลลี่ด้วยตัวอักษรผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Cyberbully
  2. การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, กีดกันไม่ให้เป็นเพื่อนกัน, ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ
  3. การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้สะดุด แย่งสิ่งของ แสดงออกทำท่าทางหยาบคายใส่

 

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เสนอผลงานวิจัยว่า เทคโนโลยีทำให้การบูลลี่รุนแรงเพิ่มขึ้น การถูกกลั่นแกล้งกระจายในโลกออนไลน์เร็วขึ้น ส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่ เลือกใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันตนเอง จากงานวิจัยยังพบอีกว่าเด็กที่รังแกคนอื่น มักได้รับการเลี้ยงดูเชิงลบ อาจเป็นพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นเมื่อโตขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางรายอาจถึงขั้นคิดสั้น

เรื่องการบูลลี่ ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศเราครับ แต่เป็นปัญหาระดับโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ได้ทำการวิจัยผ่าน โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (program me for International Student Assessment หรือ PISAหรือที่รู้จักกันในนาม การทดสอบ PISA โดยหาข้อมูลทั้งจากประเทศสมาชิก OECD และนานาชาติ เพื่อนำข้อค้นพบต่าง ๆ สู่ทางแก้ไขอย่างจริงจัง และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ของไทย ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นไม่ใช่แค่เพียงให้เด็กได้มีโอกาสได้เรียน แต่ต้องให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้ร่วมมือกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อศึกษาเรื่องของการบูลลี่และแนวทางการลดปัญหานี้ในประเทศไทย

มีเรื่องน่าสนใจเรื่องการบูลลี่ จากการสำรวจของผ่านการสอบ PISA ที่จะช่วยตอบข้อสงสัยหลายประเด็น เช่น ผู้หญิงหรือผู้ชาย ถูกบูลลี่มากกว่ากัน

  • ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า นักเรียนชายถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนหญิงอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ และในไทย นักเรียนชายถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนหญิง 14 เปอร์เซ็นต์ แต่บางประเทศ อย่างเบลเยียมและสหราชอาณาจักรพบเด็กนักเรียนหญิงถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนชาย

เด็กฐานะดี หรือเด็กยากจน ใครโดนบูลลี่มากกว่ากัน

  • เมื่อเปรียบเทียบเด็กตามสถานะทางการเงินและสังคม พบว่า เด็กที่มีสถานะด้อยกว่ามักถูกรังแกอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือนประเทศสมาชิก OECD พบว่า เด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า มักถูกกลั่นแกล้งมากกว่าเด็กที่มีฐานะเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าอยู่ 4 เปอร์เซ็นต์ และในไทย 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศอย่าง ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย กลับพบว่าเด็กที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า มีอัตราถูกกลั่นแกล้งมากกว่า

เด็กมัธยมต้นหรือมัธยมปลายถูกบูลลี่มากกว่ากัน

  • นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุด และลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้าช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย

เด็กเรียนดี หรือเด็กเรียนอ่อน ที่จะโดนบูลลี่มากกว่ากัน

  • ผลการเรียนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดการบูลลี่ในโรงเรียน เด็กที่มีคะแนนการอ่านสูงจะถูกบูลลี่น้อยกว่า เด็กที่มีคะแนนกับต่ำ ในประเทศสมาชิก OECD พบว่า ต่างกัน 13 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ยังพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งส่งผลกระทบเชิงลบต่อคะแนนการอ่านของเด็ก และยังส่งผลให้นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีแนวโน้มที่จะขาดเรียนมากกว่านักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้งอีกด้วย กล่าวคือ สำหรับประเทศสมาชิก OECD หากดัชนีการถูกกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้น 1 หน่วย ผลคะแนนการอ่านของเด็กจะลดลง 9 คะแนน ส่วนประเทศไทยจะลดลง 14 คะแนน

 

จากงานวิจัยผ่าน PISA ได้พบว่า การบูลลี่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งทางจิตใจและร่างกายของเด็ก และกระทบต่อผลการเรียนของเด็กไม่ว่าโดยตรงและโดยอ้อม การบูลลี่ในโรงเรียนอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาวะทางจิตใจของนักเรียน (ทั้งตัวผู้ถูกกระทําและผู้กระทํา) และถ้าเด็กที่ถูกบูลลี่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดไว้ได้ อาจนำไปสู่การสูญเสียที่ไม่อาจหวนคืน 

เราสามารถใช้ข้อค้นพบเหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาการบูลลี่ ในโรงเรียนได้

  1. นักเรียนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครูและผู้ปกครองจะถูกกลั่นแกล้งน้อยกว่าและถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกกลั่นแกล้งก็จะมีผลกระทบน้อยกว่า ไม่กลายเป็นปัญหาทางจิตขั้นรุนแรง
  2. โครงสร้างด้านกฎระเบียบของโรงเรียนโรงเรียนควรมีกฎระเบียบที่เข้มงวดแต่ก็มีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรม การมีระบบระเบียบในชั้นเรียนและในโรงเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะไปมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงน้อยลง ผลการวิจัยพบว่า โรงเรียนที่นักเรียนตระหนักถึงกฎระเบียบของโรงเรียน และเชื่อว่ากฎระเบียบเหล่านั้นมีความยุติธรรมจะมีการบูลลี่น้อยกว่า
  3. บรรยากาศเชิงบวกของโรงเรียนที่จะช่วยต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ผู้ใหญ่ต้องแสดงออกให้นักเรียนได้รับรู้ว่าครูและบุคลากรของโรงเรียนจะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ และต้องการให้พวกเขาประสบความสําเร็จ

มาช่วยกันลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียนกันเถอะครับ

 

อ้างอิง : https://pisathailand.ipst.ac.th/issue-2020-54/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *