อาจารย์พี่เลี้ยง มทร.ธัญบุรี ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ครู 22 โรงเรียนเครือข่ายในปทุมธานี

รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประธานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี พ.ศ.2565 มีรองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการโดยศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพร แสงสว่าง หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ ดำเนินโครงการ เผยว่า ทาง มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มุ่งพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและชุมชนในการพัฒนาคนให้นำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ปีงบประมาณ 2565 เพื่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ “มหาวิทยาลัยนวัตกรรม ที่สร้างคุณค่าสู่สังคมและประเทศ” ด้วยแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้บริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น มุ่งแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในพื้นที่พัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เข้มแข็งต่อไป

โดยได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน ทั้งหมด 22 โรงเรียนเครือข่าย ผ่าน 4 โครงการ ได้แก่ 

โครงการที่ 1 การพัฒนาแอพพลิเคชั่นแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย สอดคล้องกิจกรรมที่ 1 กิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย โรงเรียนบ้านคลองเจ้าเมือง โรงเรียนวัดสว่างภพ โรงเรียนวัดลำมหาเมฆ (ประชาตรีนุสรณ์)โรงเรียนวัดโปรยฝน โรงเรียนกลางคลองสิบ

โครงการที่ 2 ส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT) เพื่อการเรียนการสอนสอดคลองกิจกรรมที่ร่วมโครงการฯ 2) กิจกรรมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์เปิดโอกาส คิดค้นและเสนอให้นักเรียนได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน โรงเรียนวัดดอนใหญ่ โรงเรียนวัดขุมแก้ว โรงเรียนวัดปทุมนายก 

โครงการที่ 3 ส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT) เพื่อการเรียนการสอนสอดคล้องกิจกรรมที่ 3 พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โรงเรียนสุเหร่าใหม่เจริญ โรงเรียนวัดทศทิศ โรงเรียนวัดประสิทธิเวช โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง โรงเรียนวัดลานนา

โครงการที่ 4 การบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและทักษะชีวิต เพื่อสร้างรายได้สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน สอดคล้องกิจกรรมที่ 4 พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ โรงเรียนวัดเจริญบุญ โรงเรียนวัดสมุหราษฎร์บำรุง โรงเรียนวัดมงคลรัตน์ โรงเรียนวัดปัญจทายิกาวาส โรงเรียนนิกรราษฎร์บูรณะ(เหราบัตย์อุทิศ) โรงเรียนวัดโพสพผลเจริญ โรงเรียนวัดมูลเหล็ก โรงเรียนคลองสิบสาม(ผิวศรีราษฎร์บำรุง) โรงเรียนวัดพิรุณศาสตร์ 

นางสาวพรดา อินทปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนนิกรราษฎร์บูรณะ (เหราบัตย์อุทิศ) เผยว่า การอบรมพัฒนาครูกิจกรรม เบเกอรี่ เอ็นเคเอ็น (ครัวซ็องดีที่นิกร) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาริน สาลี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาภัสรา กวีวังโส ถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำครัวซ็อง ส่งเสริมวิชาชีพยกระดับพัฒนาจัดการเรียนรู้ ขยายผลต่อยอดกิจกรรม บูรณาการไปยัง 8 กลุ่มสาระวิชา ด้วยกระบวนการ PLC ให้กับครู 3 ช่วงชั้น ช่วงชั้นที่ 1 เรียนรู้อุปกรณ์ ช่วงชั้นที่ 2 เรียนรู้องค์ประกอบการทำครัวซ็อง ช่วงชั้นที่ 3 เรียนรู้ทักษะการปฏิบัติ บูรณาการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ให้ครูและนักเรียนเกิดความรู้ ทั้งทักษะการปฏิบัติและความรู้ด้านวิชาการ โดยมีครูเข้าร่วมจำนวน 11 คน ต้องการให้เด็กมีทักษะในการประกอบอาชีพ ขยายผลให้ผู้ปกครองเรียนรู้ในชุมชน ทำเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ครัวซ็องดีที่นิกร วางจำหน่ายให้กับหน่วยงาน โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดมาได้ทางโรงเรียน ครูมด 083-0450608 

นางเสาวณีย์ สมบูรณ์ศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสมุหราษฎร์บำรุง เล่าว่า กิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี ระบบเทคโนโลยีการวัดอุณหภูมิและรดน้ำอัตโนมัติ ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ สมุนไพรขมิ้นชัน สู่นวัตกรรมผ้ามัดย้อม โดยมี Mr.Padma Crisnapati Mr.Louie Villaverde และ Mr.Elang Parikesit อาจารย์ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ เป็นครูพี่เลี้ยง พัฒนาครูจำนวน 16 คน และขยายผลลงสู่นักเรียนชั้นประถมจำนวน 139 คน ครูเรียนรู้ ขั้นตอน วิธีการทำ ระบบเทคโนโลยีการวัดอุณหภูมิและรดน้ำอัตโนมัติ นำไปใช้กับแปลงสมุนไพรขมิ้นชัน การปลูกขมิ้นชันเพื่อนำไปใช้ในการทำผ้ามัดย้อม ระบบเทคโนโลยีการวัดอุณหภูมิและรดน้ำอัตโนมัติ สามารถนำมาใช้ในการรดน้ำ เพื่อความสะดวกและการประหยัดน้ำ การอบรมคุณครูออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้สู่นักเรียนในวิชาหลัก ความคิดนอกรอบสู่ความคิดเชิงนวัตกรรม 5I และโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน สามารถนำมาต่อยอดในอนาคตต่อไป 

นายบัณฑิต จันทบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปัญจทายิกาวาส เล่าว่า ในการประชุมหารือร่วมกับอาจารย์พี่เลี้ยง ได้มีการวางแผนสร้างความยั่งยืนให้กิจกรรมโรงเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียน มีทักษะการทำผ้ามัดย้อม ซึ่งปัจจุบันงดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ “ถุงผ้า” เป็นการลดขยะ ตัวโครงการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิชาการวิชาชีพและทักษะชีวิต เพื่อสร้างรายได้สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน กิจกรรม “ถุงผ้ามัดย้อมรักษ์โลก” มีอาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับครูที่เข้าฝึกอบรม ได้รับความรู้ในการทำถุงผ้ามัดย้อมรักษ์โลก มีเอกลักษณ์เป็นของโรงเรียน โดยให้ครูและนักเรียนสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปกับวิชาการด้วยกิจกรรมลงมือปฏิบัติจริง

โครงการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน แก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย,พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์, พัฒนารูปแบบการสอน,พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐบาลและสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

.

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี…รายงาน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *