เปิดแล้วอย่างเป็นทางการ ! วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข. ลุยผลิตบัณฑิต ตอบโจทย์เทรนด์โลกอนาคต เผยเตรียมเปิดอีก 2 หลักสูตร “ปัญญาประดิษฐ์-ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์”ในปี 66

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงาน Grand Opening College of Computing โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานการจัดงาน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน ผ่านระบบ Zoom  รองศาสตราจารย์สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ในการนี้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ/หน่วยงาน คณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมกิจกรรมกว่า 250 คน ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า   “วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (College of Computing, Khon Kaen University) เป็นส่วนงานเทียบเท่าคณะวิชา  โดยพื้นฐานเดิมมาจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งเป็นภาควิชาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537  โดยได้ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีมาแล้ว 25 รุ่น และปริญญาโท ปริญญาเอกมามากกว่า 10 รุ่น”

“วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายเพื่อเป็นส่วนงานใหม่ที่มีความเฉพาะด้าน Computing ขั้นสูง  โดยเปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งสิ้น 8 หลักสูตร และมีแผนการจะเปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ในปีพ.ศ. 2566  คือ หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ และหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความต้องการสูงสำหรับตลาดงานด้าน Computing วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์  พิธีเปิดวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ขึ้นในครั้งนี้  หวังให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน  เป็นการสร้างโอกาส และมิติที่ท้าทายในการเผยแพร่ชื่อเสียง กิจกรรมที่นักศึกษา บุคลากรได้มีส่วนร่วม ตลอดจนกิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจะให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในด้านศาสตร์ทางด้านคอมพิวเตอร์ และการเผยแพร่องค์ความรู้ของวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จัก ทั้งด้านวิจัย นวัตกรรม และผลงานของคณาจารย์และนักศึกษาด้าน Computing”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  “พิธีเปิดตัววิทยากลัยการคอมพิวเตอร์ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ออกสู่สาธารณชน ในฐานะเป็นส่วนงานใหม่เทียบเท่าคณะวิชา โดยยกฐานะจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์  และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2565 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “วิทยาลัยชั้นนำเพื่อผลิตบัณฑิต วิจัย และบริการวิซาการ ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ขึ้นสูง (Advanced Computing) ระดับสากล”  มีพันธกิจและนโยบายเพื่อเป็นส่วนงานใหม่ที่มีความเฉพาะด้าน Computing ขั้นสูง”

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  “ปัจจุบันการคำนวณคอมพิวเตอร์ หรือ Computing เป็นสิ่งที่เป็นความท้าทายและเป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลก ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง Computing แนวโน้มของมหาวิทยาลัยนานาชาติในการให้ความสำคัญในการจัดตั้งส่วนงานที่มีความเฉพาะด้าน Computing ที่มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นความต้องการของโลก และให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ จากภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม ประเด็นที่สองคือ แนวโน้มใหม่ในการคำนวณคอมพิวเตอร์ (Emerging Trend in Computine) ที่จะเป็นกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในสองทศวรรษถัดไป เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์ และอื่น ๆ และประเด็นที่สาม คือ บริบททางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ (Politics & Social & Economics) ซึ่งการคำนวณคอมพิวเตอร์จะมีผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ และประเด็นสุดท้าย คือการดำเนินตาม วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็น มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก”  มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศ การสร้างองค์ความรู้ในระดับโลก และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชมและสังคมนั้น  ซึ่งศาสตร์ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ หรือ Computing จึงถือว่าเป็นแนวโน้มของโลก (Global Mega Trend) และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและประมวลผล Cloud Computing, Blockchain, Def, NFT, โลกเสมือน Metaverse นอกจากนั้น ยังมี การบูรณาการศาสตร์ Computing เพื่อประยุกต์ในการสร้างความเป็น Intelligence ให้กับศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปะ และต่างๆ ได้อีกมาก  นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการดำเนินการเชิงรุก ในการนำไปสู่การกำหนดทิศทางของศาสตร์ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์”

“ฉะนั้นการสนับสนุนให้เยาวชนในประเทศมีพื้นฐานที่สำคัญด้านการออกแบบ การแก้ปัญหาด้วยการคำนวณคอมพิวเตอร์ การสร้างความรู้ความเข้าใจในดิจิทัล การคำนวณคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับบุคคลทั่วไป รวมไปถึง การผลิตบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบสนองภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมได้  การวิจัยด้านการคำนวณขั้นสูงในระดับแนวหน้า (Frontier Research) การสร้างนวัตกรรมด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (Computing & AI Innovation) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญอื่นๆ  จะสามารถยกระดับและช่วยเหลือสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดทักษะอาชีพใหม่ ที่สามารถรองรับกับสังคมในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่  สอดคล้องและตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคอุตสาหกรรม 5.0  เกิดการสร้างและมีเทคโนโลยีของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติได้ต่อไป”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *