คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตร “Metaverse” สำหรับบุคคลทั่วไป

คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตร “Metaverse” สำหรับบุคคลทั่วไป
คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตร “Metaverse” สำหรับบุคคลทั่วไป

คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตรระยะสั้นสำหรับบุคคลทั่วไป “เทคโนโลยี Metaverse และการประยุกต์ใช้” ขยายกรอบการเรียนรู้ สร้างคนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ตอบโจทย์อนาคตสังคมไทย

 

“ปัจจุบัน เทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราเข้าสู่ยุคของ Metaverse เต็มตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่พร้อมคือ “คนสร้างโลกเสมือน” เราต้องการกำลังคนมหาศาลที่จะมาสร้างโลก Metaverse และเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น”  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พนมเชิง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเป้าหมายชองการริเริ่มหลักสูตรนี้พร้อมให้ความมั่นใจกับผู้สนใจว่าการสร้างโลกด้วย Metaverse นั้น “ใครๆ ก็ทำได้”

Assoc.-Prof.-Gridsada-Phanomchoeng,-Ph.D.
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พนมเชิง

รศ.ดร.กฤษฎา นิยามลักษณะ “Metaverse” แบบเข้าใจง่ายๆ  ดังนี้

  • สามารถเข้าไปอยู่ได้นานๆ
  • เข้าไปแล้ว มีความสุข
  • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
  • ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพ 3 มิติ สามารถเป็น 2 มิติ หรือไม่ต้องเป็นภาพเลยก็ได้

Metaverse สำคัญอย่างไร

เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อชีวิตให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) การเรียนการสอนออนไลน์ การจัดงานสัมมนาออนไลน์ และโลกเสมือน Metaverse ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนในโลกที่มีความหลากหลาย

“ในด้านการเรียนการสอน Metaverse ช่วยลบข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าความเสี่ยงการติดโรคระบาด ระยะเวลาการเดินทางและค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ การเห็นของจริง ที่เป็นไปได้ยากในโลกความเป็นจริง สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกเสมือน” อาจารย์กฤษฎา กล่าว

แม้ปัจจุบัน Metaverse จะเอื้อให้คนเราปฏิสัมพันธ์กันแบบที่ใกล้เคียงกับการได้มาเจอกันจริงๆ หรือได้ไปสถานที่นั้นๆ จริงๆ แต่ก็ยังแค่ “เสมือน”

“นักวิจัยยังคงพยายามพัฒนาให้ประสบการณ์ในโลก Metaverse มีความใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น แว่น Oculus ถุงมือ หรืออุปกรณ์ควบคุม ก็ทำให้เรารู้สึกได้เทียบเท่าของจริงมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าในอนาคต ประสบการณ์ใน Metaverse อาจจะดีกว่าของจริงก็เป็นได้”

อาจารย์กฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวในโลกที่รอให้เทคโนโลยี Metaverse ช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้

Metaverse ใครๆ ก็สร้างได้

ตลอดระยะเวลา 30 ชั่วโมงในการเรียนหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” ผู้เรียนจะได้ความรู้พื้นฐานที่นำไปสร้าง Metaverse ของตัวเองได้จริง

“ไม่ว่าจะมาจากสาขาอาชีพใด มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาหรือไม่ หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสร้าง Metaverse ที่เป็นโลกของตนเองอย่างน้อย 1 ใบ พร้อมทั้งได้รับใบประกาศเมื่อเรียนจบหลักสูตร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงตามความสนใจของตนแน่นอน” อาจารย์กฤษฎา กล่าวอย่างมั่นใจ

“ขณะนี้มีนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรนี้เรียบร้อยแล้ว 1 รุ่น นักเรียนทั้ง 25 คน สามารถสร้าง Metaverse ออกมาได้อย่างดี และส่วนมากบอกว่าสามารถทำได้ไม่ยากเลย” อาจารย์กฤษฎาทิ้งท้าย

สามารถติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัครได้ที่ :  Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

 

แหล่งที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *