มบส. เก๋ไก๋ ผุดกิจกรรม “มิวสิควัคซีน” ป้องกันโรค “อัลไซเมอร์”

จากสภาพสังคมผู้สูงวัยในปัจจุบันทำให้มองเห็นปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นอันดับต้นๆและพบบ่อยสุด คือภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งโรคดังกล่าวจะพบร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากกว่า 80 ปี ทั้งนี้โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ความบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน การบริหารจัดการ รวมถึงการรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคมด้วย

แม้ว่าโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ จะรักษาไม่หาย แต่ก็สามารถป้องกันได้ในหลายวิธี เช่น การรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน การฝึกฝนสมอง ด้วยการคิดเลข การอ่านหนังสือ การเล่นเกมส์ การฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงกิจกรรมดนตรีอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ และยังช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขที่เรียกว่าการเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัด ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) จึงได้ผุดกิจกรรม “มิวสิควัคซีน” เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. เล่าให้ฟังว่า กิจกรรม “มิวสิควัคซีน” เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการ ห่วงใยใส่ใจสุขภาพของผู้สูงอายุ ชุมชนประสานมิตรและชุมชนบางยี่เรือ เขตธนบุรี ด้วยศาสตร์แบบบูรณาการ ซึ่งมี รศ.ดร.เอกชัย พุหิรัญและ ผศ.พนัส ต้องการพานิช อาจารย์จากวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เข้ามาช่วยดูแลกิจกรรมดังกล่าว โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ที่ทางมหาวิทยาลัยดูแลรับผิดชอบทั้งในเขตกรุงเทพฯและพื้นที่เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ใน 5 หมู่บ้าน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้เข้าไปช่วยดูแลและทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงสามารถดำเนินชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข ด้วยการใช้ดนตรีมาเป็นตัวนำในการทำกิจกรรม เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุหรือ “มิวสิควัคซีน” นั่นเอง

ถ้าจะพูดถึงกิจกรรม “มิวสิควัคซีน” มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้น รศ.ดร.เอกชัย บอกว่า เป็นการนำดนตรีมาประกอบในการทำกิจกรรมเสริมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ หรือ การใช้ดนตรีบำบัด เช่น การทำท่าฤาษีดัดตน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ผู้สูงอายุแข็งแรง ไม่ล้มง่าย การออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่อง ซึ่งระหว่างที่ทำกิจกรรมจะมีดนตรีมาประกอบ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายและยังเป็นการให้จังหวะด้วย ส่วน“มิวสิควัคซีน “ จะมีความพิเศษคือ ดนตรีที่ใช้นั้นจะคิดขึ้นมาเอง ซึ่งจะใช้การปฏิบัติดนตรีโดยสมอง 2 ซีกจากการเคาะจังหวะโดยมีเครื่องช่วยประกอบจังหวะที่เป็นพื้นฐานมาจากปฏิบัติเครื่องกระทบ มีการเรียนรู้ตามหลักวิชาการในด้านการใช้อุปกรณ์ฝึกคือ ไม้กลองและแป้นตี มีแบบฝึกหัดที่เป็นลำดับขั้นตอนจากง่ายไปยากเพื่อฝึกสมองความจำ
นอกจากนี้จะมีการจับไม้กลองแล้วตีบนแป้นตี เป็นการฝึกให้มือซ้ายและมือขวาให้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างมีอิสระ ซึ่งในทางดนตรีเรียกว่าเป็นการแยกประสาทในการตีกลอง มีการฝึกปฏิบัติเฉพาะเครื่องกระทบที่เรียกว่า paradiddle ที่เป็นการกำหนดการตีของมือซ้ายและขวาเป็นชุด ๆ เช่น ซ้าย-ขวา-ซ้าย-ซ้าย หรือ ขวา-ซ้าย-ขวา-ขวา เป็นต้น และมีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่โดยเฉพาะ เพื่อประกอบจังหวะในการตี เป็นการประเมินผลขั้นสุดท้ายของการฝึก อย่างไรก็ตามการปฏิบัติรูปแบบนี้สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นกระสวนจังหวะในรูปแบบอื่นได้อีก โดยมีคลิปวีดีโอการฝึกและแบคกิ้งแทรค สำหรับฝึกซ้อมประกอบ ทำให้ผู้ฝึกสามารถฝึกฝน ทบทวนได้ด้วยตนเองหลังจากการเข้ารับการอบรมได้ด้วย

 

คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาดูแลตัวเอง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ และการใช้กิจกรรม”มิวสิควัคซีน”เข้ามาช่วยเสริมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ น่าจะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *