มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมยกระดับชุมชน เดินหน้า กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย City Data Platform

ในปัจจุบันมีจัดการแก้ไขปัญหาการจัดการเมือง หรือพัฒนาประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น กรุงเทพฯใช้ Traffy Fondue ที่ให้ประชาชนคอยแจ้งปัญหาถึงผู้รับผิดชอบโดยตรง พร้อมกับแสดงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทำให้เห็นปัญหาตั้งแต่ระดับเล็ก หรือ รากฝอย ไปจนถึงปัญหาระดับใหญ่ ซึ่งการพัฒนากลไกต่าง ๆ นี้ มีทั้งความร่วมมือจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

ล่าสุด ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  ได้จัดเสวนา กลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย City Data Platform” เพื่อการยกระดับชุมชน โดยมีการร่วมมือกันทั้งจากภาคการศึกษา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และในระดับจังหวัด เพื่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)  ด้วยการขับเคลื่อน  Digital University

โดยเสวนา เริ่มต้นจาก ดร.อภินัทธ์ เทียมสุพัต รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัลสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้เล่าถึงการพัฒนาพื้นที่ด้วยการผลักดันให้เป็น Smart City ว่า “ในเมืองทุกเมือง จะมีปัญหาแต่ก็จะมีโอกาสในการพัฒนาเมือง โดยใช้จุดแข็งของเมืองนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ดังนั้น ปัญหาและโอกาส จึงทำให้เกิดข้อมูล จากพื้นฐานโครงสร้างต่าง ๆ ของเมือง และเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่ทำเรื่องนี้นำมาพัฒนาให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเมือง ซึ่งทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีการมอบตราสัญลักษณ์ Smart City ให้กับเมืองที่เข้าเกณฑ์ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา ยะลา ภูเก็ต และอีกหลาย ๆ ที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจาก 5 หลักเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้  “Data City Platform” เป็น 1 ในเกณฑ์นั้น ทำให้แต่ละเมืองที่จะได้ตราสัญลักษณ์ ต้องนำ Data City Platform มาใช้ในการพัฒนาเมือง และต้องเป็นการสื่อสารสองช่องทางเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานอีกด้วย” ด้าน อ.ดนัยรัฐ​ ธนบดีธรรมจารี ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมดิจิทัล เสริมว่า “การจะพัฒนาเมืองให้เป็น  Smart City  ต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐ ที่เข้ามาช่วยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และภาคประชาชนที่มีความเข้าใจพื้นที่และวัฒนธรรมในเมืองนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยอาจจะมีการต่อยอดและช่วยนำเสนอในมุมที่ภาครัฐยังมองไม่เห็น”

และจากความตั้งใจของการทำงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันเพื่อให้เกิด Smart City ทางเมืองนครนครศรีธรรมราช ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่นำ Smart City เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา มีการการันตี 48 ชั่วโมง ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ซึ่ง ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้เล่าว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีประชากรประมาณ หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคน เริ่มจากการทำงานในพื้นที่กับประชาชน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยกับการได้ประโยชน์ในการใช้งาน ทางทางเทศบาลใช้ Line ในการสื่อสาร มีเมนูร้องทุกข์ออนไลน์ โดยมีการการันตี 48 ชั่วโมงต้องแก้ไขได้ การันตีโดยนายกเทศมนตรี โดยปัญหาที่พบจากการใช้งานพบว่า 25% เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้าตามท้องถนน รองลงมาเป็น ถนน ทางเท้า น้ำประปา ซึ่งเมื่อมีประชาชนเข้ามาใช้งานในจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็จะมีการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานให้สอดคล้องกับประชาชนอยู่เสมอ นอกจากนี้มีการนำกล้อง CCTV มาใช้ดูระดับน้ำเพื่อการ เตือนภัยน้ำท่วมแบบ Real-Time ให้กับประชาชน และยังใช้การเก็บข้อมูลจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ตรงความต้องการของประชาชนอีกด้วย

นอกจากจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทราเองก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาเมืองเช่นเดียวกัน คุณนาตยา เมฆอรุณ  สถิติจังหวัดฉะเชิงเทรา และเลขานุการคณะทำงานพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะจังหวัดฉะเชิงเทรา (City Data Platform for Chachoengsao Smart City) ได้เสริมว่าทางจังหวัดได้จัดทำกรอบข้อมูลเมือง 3 ประเด็น คือ 1.เมืองน่าอยู่ รวบรวมข้อมูลที่ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างง่าย เช่น ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อาชญากรรม 2.เมืองน่าเที่ยว รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวต่าง ๆ การคมนาคม และ 3.เมืองน่าลงทุน สำหรับเพื่อการพัฒนาในเชิงพื้นที่ การลงทุน และด้านประชากรศาสตร์ เพื่อพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ

ทางด้าน  รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ที่กำลังเดินหน้าผลักดันการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ที่นอกจากด้านการเรียนการสอน บริการวิชาการ งานวิจัยที่เป็นภารกิจที่ต้องทำอยู่แล้ว ยังได้ให้ข้อมูลในการเสวนาครั้งนี้ว่า “ทางมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากร (Smart People) ทั้งผู้สอนและผู้เรียน ด้วยกลไกพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองด้วย City Data Platform   นอกจากนี้ยังมีการพัฒนางานวิจัยไปต่อยอดในพื้นที่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) โดยเฉพาะการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สวทช. บริษัท ดาว ประเทศไทย, Gistda, Minor group, บริษัท ISS Consulting Thailand ยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็น Digital University และยังทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ 3P (Process People Platform) และขอเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาเมืองไปด้วยกัน มาเปลี่ยนปัจจุบันให้เป็นอนาคต และพัฒนาเมืองไปด้วยกัน”

 

ท้ายสุด ชัยนนท์ จันทร์เต็ม พิธีกรในการเสวนาครั้งนี้ สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า เราเริ่มเห็นแนวทางการปรับตัวของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และการศึกษา ที่ได้มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นแล้ว ดังนั้น City Data Platform ถูกนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้ประเทศของเราขับเคลื่อนและพัฒนาได้ยิ่งขึ้นไปอีก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *