สรุปขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2565 (จากรายงาน IMD 2022)
ข้อมูลจาก
กลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา
สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
สวัสดีค่ะวันนี้ทาง Eduzones ชวนมาอัปเดต #ข้อมูลเกี่ยวกับการเเข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2565 โดยใช้ดัชนีของสถาบันในการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเเละมีการจัดอันดับความสามารถในการเเข่งขันด้านการศึกษาจากหลาย ๆ ประเทศ เรามาดูกันเลยว่าเเต่ละประเทศอยู่อันดับไหนกันบ้าง
สรุปขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2565 (จากรายงาน IMD 2022)
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาเเละเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติโดยใช้ดัชนีของสถาบันในการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเป็นกรอบหลักสำหรับการวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล
สถาบัน IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2565 ในรายงาน The World Competitiveness Yearbook (WCY) 2022 ซึ่งในปีนี้ IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ รวม 63 ประเทศ โดยมี 2 แหล่งข้อมูลที่ IMD นำมาจัดอันดับคือ 1) ข้อมูลสถิติ/ข้อมูลทุติยภูมิ (Hard data/Secondary data) เป็นการรวบรวมจากองค์การระหว่างประเทศ ระดับชาติและภูมิภาค เช่น OECD, World Bank, UN, WTO, UNESCO/UIS, IMF เป็นต้น 2) ข้อมูลจากการสำรวจ (Survey data) มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงโดยข้อมูลที่ได้จะอยู่ในรูปของคะแนนความพึงพอใจที่มีค่าระหว่าง 1 – 10
IMD พิจารณาอันดับตัวชี้วัดที่สำคัญ 4 ปัจจัยหลัก (Competitiveness Factors) ประกอบด้วย
1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
แต่ละปัจจัยหลักประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยย่อย (Sub-factors) รวมทั้งสิ้น 20 กลุ่ม ซึ่งแต่ละปัจจัยย่อยมีจำนวนตัวชี้วัด (Criteria) ในแต่ละปีที่ไม่เท่ากัน โดยในปี 2565 มีตัวชี้วัดรวมทั้งสิ้น 333 ตัวชี้วัด (รายละเอียด ตาราง 1) สำหรับปัจจัยด้านการศึกษาเป็นปัจจัยย่อยอยู่ในปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีตัวชี้วัด 19 ตัวชี้วัด
ตาราง 1 ปัจจัยหลักและปัจจัยย่อยในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปี 2564
ความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของประเทศไทย
ประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 28 เป็น 33 จากทั้งหมด 63 ประเทศ หากพิจารณาผลการจัดอันดับของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีอันดับลดลงโดยมาเลเซียมีอันดับลดลง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 32 (จากอันดับที่ 25 ในปี 2564) และอินโดนีเซียมีอันดับลดลง 7 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 44 (จากอันดับที่ 37 ในปี 2564) ส่วนประเทศไทยมีอันดับลดลง 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 33 (จากอันดับที่ 28 ในปี 2564) และยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียโดยสิงคโปร์มีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับ 3 (จากอันดับ 5 ในปี 2564) และมีอันดับเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน
ความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย
ในปี 2565 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของปัจจัยย่อยในปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 53 โดยมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และมีอันดับดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบ 10 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีสมรรถนะด้านการศึกษาลดลงจากอันดับที่ 51 ในปี 2556 ลดลงเป็นอันดับที่ 53 ในปี 2565 ลดลง 2 อันดับ (แผนภาพ 1)
แผนภาพ 1 อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2556 – 2565
ที่มา : IMD World Competitiveness Yearbook 2013-2022
ตัวเลขในวงเล็บ คือ จำนวนประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมการจัดอันดับ
เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาตามกรอบการประเมินของ IMD จำนวน 19 ตัวชี้วัดของประเทศไทย ในปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า
ตัวชี้วัดที่มีอันดับดีขึ้น มี 12 ตัวชี้วัด จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตัวชี้วัดที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ 12 ตัวชี้วัด ได้แก่
(1) งบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP
(2) งบประมาณด้านการศึกษาต่อประชากร
(3) งบประมาณด้านการศึกษาต่อนักเรียนทุกระดับการศึกษา
(4) อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนระดับประถมศึกษา
(5) อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คน ที่สอนระดับมัธยมศึกษา
(6) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา
(7) ผลการทดสอบ PISA
(8) ร้อยละของนักเรียนที่มีผลการทดสอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
(9) ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา
(10) จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศต่อประชากร 1,000 คน
(11) ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL)
(12) ดัชนีมหาวิทยาลัย
ตัวชี้วัดที่มีอันดับเท่าเดิม มี 2 ตัวชี้วัด จำแนกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ตัวชี้วัดที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 1 ตัวชี้วัด
(1) จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาต่อประชากร 1,000 คน
กลุ่มที่ 2 ตัวชี้วัดที่ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจ 1 ตัวชี้วัด
(1) การบริหารจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ
ตัวชี้วัดที่มีอันดับลดลง มี 5 ตัวชี้วัด จำแนกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ตัวชี้วัดที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 2 ตัวชี้วัด
(1) ร้อยละของผู้หญิงที่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป
(2) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
กลุ่มที่ 2 ตัวชี้วัดที่ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจ 3 ตัวชี้วัด
(1) การศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่ตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
(2) การตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของการอุดมศึกษา
(3) ทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการ
ในปี 2565 ตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่มีการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ (1) งบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP โดยมีอันดับดีขึ้น 10 อันดับ จากอันดับที่ 59 (3.0 % GDP) เป็นอันดับที่ 49 (3.7 % GDP) รองลงมาเป็น (2) ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา มีอันดับดีขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 49 (32 %) เป็นอันดับที่ 45 (34 %) และ (3) งบประมาณด้านการศึกษาต่อนักเรียนทุกระดับการศึกษา มีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 56 (986 us$) เป็นอันดับที่ 53 (1,294 us$) ทั้งนี้ ตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่มีอันดับดีที่สุด ได้แก่ อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนระดับประถมศึกษา มีอันดับดีขึ้นถึง 2 อันดับ จากอันดับที่ 30 (ครู 1 คนต่อนักเรียน 15 คน) ในปี 2564 มาเป็นอันดับที่ 28 (ครู 1 คนต่อนักเรียน 14 คน) ในปี 2565 ในทางกลับกันตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุดในด้านการศึกษา จำนวน 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา มีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับ 61 (72.7%) ในปี 2564 เป็นอันดับ 59 (77.5%) ในปี 2565 (2) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 57 (6.2 %) ในปี 2564 เป็นอันดับ 58 (6.2 %) ในปี 2565 (3) ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL) มีอันดับดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 58 (80 คะแนน)ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 57 (83 คะแนน) ในปี 2565 และ (4) อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนระดับมัธยมศึกษา มีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับ 62 (ครู 1 คนต่อนักเรียน 25.95 คน) ในปี 2564 เป็นอันดับ 57 (ครู 1 คนต่อนักเรียน 23.59 คน) ในปี 2565
แผนภาพ 2 ตัวชี้วัดด้านการศึกษาของ IMD ปี 2564-2565
ที่มา : IMD World Competitiveness Yearbook 2021-2022
หมายเหตุ : ** หมายถึง ตัวชี้วัดที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจ
(ตัวเลขในวงเล็บ คือ อันดับของตัวชี้วัด)
ตาราง 2 อันดับภาพรวมด้านการศึกษา 2 ปีย้อนหลัง
หมายเหตุ
ในปี 2022 มีประเทศเข้ามาใหม่ ได้แก่ บาห์เรนและไม่มีประเทศรัสเซียและยูเครน
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3Ra9PcF
#สภาการศึกษาxEduzones #OECnews #OECAcademicArticle #สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา #สภาการศึกษา #การศึกษา #eduzones
OEC News สภาการศึกษา
• Website: http://www.onec.go.th
• Facebook: https://www.facebook.com/OECSocial
• YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO
• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews
• Blockdit: https://www.blockdit.com/oecnews