การประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย (Thailand Education Data Quality Assessment Framework: Thailand Ed – DQAF)

ข้อมูลจาก

สำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

          จากคำกล่าว “คุณภาพด้านการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล” จะเป็นความจริงหรือไม่ วันนี้ทาง Eduzones ก็มีคำตอบมาให้เเล้ว เป็นข้อมูลดี ๆ สำหรับเกณฑ์การประเมินการศึกษา เรามาดูกันเลยว่าประเทศไทยมีระดับการประเมินอยู่ในระดับใดเเละมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใดที่จะสามารถพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้นได้ เราไปดูกันเลยค่ะ

 

          โลกปัจจุบันได้มีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศในการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูล (Database) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านข้อมูลสามารถเข้าถึงอย่างสะดวกมีประสิทธิภาพของโครงสร้างของฐานข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศที่รองรับความต้องการของผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนประเมินผลทางการศึกษา ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลที่สนับสนุนต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยเปรียบเทียบกับนานาประเทศ ประกอบกับกระแสของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่ถูกผลิตมากขึ้น แต่พบว่าข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และขาดการให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล (Data Quality) เพื่อนำสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลและสารสนเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

            การประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศ ได้รับความร่วมมือและต้นแบบในการประเมินคุณภาพข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co operation and Development: OECD) และสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) ในการจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดตามแบบจัดเก็บของ WEI data collection ภายใต้โครงการ World Education Indicators (WEI) ที่จัดจำแนกการศึกษาตามมาตรฐานสากล (International Standard Classification of Education: ISCED 2011) โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกันเรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งมีการใช้อ้างอิงและเผยแพร่ระดับนานาชาติ สะท้อนถึงสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ปรากฏในรายงานต่าง ๆ เช่น Global Education Digest (GED), World Competitiveness Yearbook (WCY) และ The Global Competitiveness Report (GCR) เป็นต้น ดังนั้นระบบฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสำคัญยิ่งต่อการวางแผนและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลการพัฒนาทรัพยากรของมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

              สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ศึกษาและพัฒนากรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย (Thailand Education Data Quality Assessment Framework: Thailand Ed-DQAF) เพื่อสร้างความพร้อมเข้าสู่แนวทางการดำเนินงานประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล ภายใต้กรอบของสถาบันสถิติแห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics: UIS) ที่ครอบคลุมกระบวนการประเมินการจัดทำข้อมูล ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูล และการเผยแพร่ข้อมูล มีประเด็นสำหรับการประเมิน ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก 8 หลักการ ดังนี้

กรอบการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษา

(Education Data Quality Assessment Framework: Ed DQAF)

ผลการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย

          ผลการประเมินคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย ในภาพรวมอยู่ในระดับสาม (ค่าเฉลี่ย 3.37 คะแนน, SD = 0.88) คือ มีส่วนที่ควรปรับปรุงแต่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และข้อมูลบางส่วนไม่สามารถแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ รวมถึงมีข้อคิดเห็นและคำอธิบายเพิ่มเติมในการดำเนินงานตามมาตรฐานคุณภาพ กล่าวคือประเทศไทยมีความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างขององค์กร โดยมีหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษา แต่การประเมินคุณภาพข้อมูลในด้านการนำเสนอสถิติทางการศึกษามีคะแนนน้อยที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการกำหนดให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาของประเทศไทย และมีสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานจัดทำข้อมูลและตัวชี้วัดตามแบบจัดเก็บของ WEI data collection ภายใต้โครงการ World Education Indicators (WEI) ที่จัดจำแนกการศึกษาตามมาตรฐานสากล (International Standard Classification of Education: ISCED 2011) ดังนั้น ความพร้อมส่วนใหญ่จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการทางสถิติ แต่ยังขาดความพร้อมในทางทรัพยากรด้านสาขาวิทยาการข้อมูลและสาขาสถิติ ที่ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรด้านสาขาคอมพิวเตอร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนแผนอัตรากำลังการทดแทนและการรักษาบุคลากร ซึ่งยังไม่มีการดำเนินงานในทางปฏิบัติทำให้ทรัพยากรบุคคลในหน่วยงานมีการโยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่งบ่อย จึงมีผลทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน ส่งผลให้บุคลากรไม่ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญและทักษะในงาน ซึ่งมีผลต่อการตรวจสอบความสอดคล้องของข้อมูลทำให้การนำเสนอสถิติทางการศึกษาขาดความน่าเชื่อถือและความแม่นยำ การนำเสนอข้อมูลไม่เป็นเอกภาพไม่ทันต่อการใช้งาน และขาดการเข้าถึงข้อมูลด้านการศึกษาที่เข้าใจง่าย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลต่อไป

ข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพข้อมูลทางการศึกษาของประเทศไทย

1. พัฒนาทรัพยากรทางด้านบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและทางด้านการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาที่เทียบเคียงกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง
2. จัดทำแผนอัตรากำลังทดแทน และการรักษาบุคลากรของหน่วยงานที่บริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาของประเทศไทย
3. มาตรฐานข้อมูลต้องมีการตรวจสอบความสอดคล้องและเทียบเคียงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่น เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษา
4. ต้องมีการจัดทำบัญชีข้อมูลที่แสดงถึงคำอธิบายชุดข้อมูลตามรายการจัดเก็บที่พึงมี
5. กระบวนการดำเนินด้านการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
เพื่อผู้ใช้ข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาในระดับพื้น สามารถใช้วางแผนและประเมินด้านการศึกษาระดับพื้นที่
ได้ทันเวลา
6. จัดทำเอกสารประกอบการใช้ข้อมูลที่ถูกวิธี และการเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
7. หน่วยงานที่จัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญของข้อมูลและหน่วยงานที่บริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาของประเทศไทยต้องตอบถึงประโยชน์และความสำคัญในการจัดส่งข้อมูล
8. ความเป็นเอกภาพของการจัดข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษา ควรมีการกำหนดร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่บริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษาของประเทศไทยกับหน่วยงานระดับพื้นที่ ในการจัดทำนิยามข้อมูลและตัวชี้วัดที่เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3cQoVp5

#สภาการศึกษาxEduzones #OECnews #OECAcademicArticle #สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา #สภาการศึกษา #การศึกษา #eduzones

📝OEC News สภาการศึกษา

• Website: http://www.onec.go.th

• Facebook: https://www.facebook.com/OECSocial

• YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO

• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews

• Blockdit: https://www.blockdit.com/oecnews

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *