จุฬาฯ วิจัยหนุน“สระบุรีพรีเมียมมิลค์” ต้นแบบธุรกิจเพื่อเกษตรกรโคนมไทยแข่งขันในตลาดโลก

สัตวแพทย์ จุฬาฯ วิจัยหนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมพัฒนาและผลิตน้ำนมคุณภาพสูง “สระบุรี   พรีเมียมมิลค์” ผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ธุรกิจฟาร์มเพื่อยืนหยัดแข่งขันในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับภาวะคุกคามของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)           ในปี 2568 และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)  เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการผลิตน้ำนมดิบคุณภาพสูง และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มเพื่อผลิตน้ำนมคุณภาพระดับพรีเมียม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรโคนมไทยกว่า 16,000 ครอบครัวที่ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะคุกคาม หากไม่มีการปรับเปลี่ยนเมื่อสัญญาเขตการค้าเสรีเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2568 น้ำนมและผลิตภัณฑ์นมหลากหลายชนิดจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จะเข้ามาทำการตลาดและแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากไม่มีกำแพงภาษี ดังนั้นเกษตรกรต้องเร่งพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ

ความสดใหม่ (Freshness) และคุณภาพของน้ำนมสดระดับพรีเมียม (Premium Quality Milk) เป็นอีกหนึ่งคำตอบในการเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตและเพิ่มช่องทางการตลาด รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการริเริ่มโครงการวิจัย “การพัฒนาต้นแบบเชิงธุรกิจการเกษตรน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมพรีเมียม จังหวัดสระบุรี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตั้งแต่ต้นปี 2564 ทีมวิจัยฯ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (mentor) ที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยยกระดับคุณภาพน้ำนม  รวมถึงการพัฒนาทักษะต่างๆเพื่อให้เกษตรกรก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ จนสามารถเกิดต้นแบบธุรกิจฟาร์มที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำนมระดับพรีเมียมได้ และเกิดแบรนด์สินค้าผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของฟาร์มเกษตรกรเองถึงสามแบรนด์

“นี่เป็นหนึ่งในทางรอดของเกษตรกรไทยในเมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำนมรายใหญ่ได้มองเห็นศักยภาพของตลาดของน้ำนมพรีเมียมในเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ของนมพรีเมียม มีผู้บริโภคนมพรีเมียมถึง 26% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เราควรขยับเข้าสู่ตลาดสินค้าพรีเมี่ยมทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ เพราะนอกจากเราจะสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม   ได้แล้ว ผลิตภัณฑ์ของเรายังมีความสดใหม่ นำส่งถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ”

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในเรื่องวิชาการหลายด้าน      ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ตั้งแต่เรื่องการจัดการฟาร์ม เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงด้านการตลาดและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จากศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค อ. แก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นหน่วยงานหลัก      ในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาความสามารถในการผลิตน้ำนมให้เกษตรกร ตั้งแต่การปรับปรุงการบริหารจัดการฟาร์ม การสร้างระบบการคัดแยกน้ำนมดิบพรีเมียม ในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมแปรรูป  ทางโครงการวิจัยได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ และในส่วนของการพัฒนาต้นแบบธุรกิจและส่งเสริมการตลาดยังได้รับความร่วมมือจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาธุรกิจการแปรรูปและมองเห็นช่องทางการตลาดใหม่ๆ อีกด้วย

น้ำนมระดับพรีเมียมเป็นอย่างไร

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ ได้อธิบายเรื่องคุณภาพของน้ำนมโคระดับพรีเมียมว่าเป็นน้ำนมที่มีปริมาณไขมันสูงไม่น้อยกว่า 4% มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 3.1% และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรียในน้ำนมไม่เกินค่ามาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานน้ำนมทั่วไป คุณสมบัติพิเศษที่กล่าวมานั้นจะมีผลต่อรสชาติของน้ำนมพร้อมดื่มและเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โยเกิร์ต ชีส เนย ฯลฯ ยังทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุเก็บรักษาที่นานขึ้นด้วย

ปลดล็อกปัญหา เปล่งศักยภาพเกษตรกรโคนมไทย

ประเทศไทยมีโคนมประมาณ 6 แสนตัว สามารถผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยประมาณ 3,000 ตันต่อวันหรือล้านกว่าตันต่อปี มูลค่าน้ำนมในประเทศไทยมีสูงถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ผลิตภัณฑ์น้ำนมมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 1- 3% ต่อปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยฯ จึงมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำนมแปรูปที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 15%

โครงการวิจัยฯ เลือก “จังหวัดสระบุรี” เป็นพื้นที่วิจัยต้นแบบ ไม่เพียงเพราะจุฬาฯ มีศูนย์การเรียนรู้และศูนย์วิจัยฯ ที่นั่น แต่จังหวัดสระบุรียังเป็นจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสามารถผลิตน้ำนมโคได้มากเป็นระดับต้นๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า  4,000 ราย หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ และสามารถผลิตน้ำนมโคได้ประมาณ 20% ของประเทศไทย

“เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดสระบุรีประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงมาก อากาศที่ร้อน     ทำให้ผลผลิตน้ำนมที่ได้มีปริมาณลดลง นอกจากนี้ ฟาร์มโคนมในจังหวัดสระบุรีเป็นฟาร์มขนาดกลาง            ซึ่งไม่สามารถขายน้ำนมดิบโดยตรงเข้าสู่โรงงานได้” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ เผยถึงประเด็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรที่ศูนย์วิจัยฯ ได้เข้าช่วยเหลือด้วยการบริหารจัดการฟาร์มโดยอาศัยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ (Precision Dairy Farm Management) และการพัฒนาระบบลดความร้อนภายในฟาร์มเพื่อให้โคนมกินอาหารได้เพิ่มขึ้นและผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ร่วมกับการควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบให้เป็นไปตามมาตรฐาน

คัดกรองคุณภาพน้ำนมเพื่อ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์”

โครงการวิจัยฯ เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานน้ำนมดิบระดับพรีเมียม และพัฒนาต้นแบบเชิงธุรกิจ โดยเริ่มจากการสื่อสารและคัดกรองฟาร์มโคนมที่มีความสนใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ธนศักดิ์ บุญเสริม ภาควิชาอายุรศาสตร์                  คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เน้นการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สะท้อนปัญหาว่า  “การรวบรวมน้ำนมดิบเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ผู้รวบรวมน้ำนมดิบยังไม่สามารถแยกน้ำนมดิบคุณภาพ       ดีเยี่ยมออกจากน้ำนมดิบคุณภาพระดับปานกลางได้ น้ำนมสดคุณภาพพรีเมียมจึงถูกนำมาเทรวมกันที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมหรือสหกรณ์โคนมก่อนที่จะนำน้ำนมไปขายให้โรงงานแปรรูป

“เกษตรกรที่ผลิตนมสดคุณภาพพรีเมียมจึงเสียโอกาสที่จะได้ค่าตอบแทนสำหรับความพรีเมียมของผลผลิตที่ทำได้ บริษัทผู้แปรรูปน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมก็ไม่สามารถเข้าถึงน้ำนมดิบคุณภาพพรีเมียมเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็พลาดโอกาสที่จะได้บริโภคน้ำนมระดับพรีเมียม”

โครงการฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจากเกษตรกรที่สมาชิกของศูนย์รวบรวมน้ำนมและสหกรณ์โคนมจำนวน 12 แห่ง โดยพิจารณาจากผลการตรวจคุณภาพน้ำนมย้อนหลังเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 114 ราย (จาก 4,008 ราย) ที่สามารถผลิตน้ำนมดิบมีคุณภาพระดับพรีเมียม          ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังขาดความสามารถในการผลิตน้ำนมให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ มาเข้าร่วมโครงการฯ คณะผู้วิจัยฯ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ พัฒนากระบวนการคิดของเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ  เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจนมพรีเมียม

สร้าง 3 แบรนด์ฟาร์มต้นแบบธุรกิจ ภายใต้ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์”

หลายครั้งการวิจัยและพัฒนามักมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์และทิ้งให้เกษตรกรทำการตลาดเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเกษตรกร แต่ในโครงการวิจัยนี้ ทีมผู้วิจัยได้ร่วมกันดูแลตั้งแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำนมไปจนถึงพัฒนา        ตัวแบบธุรกิจ (Business Model) เพื่อทดลองจำหน่ายจริงในตลาด โดยการทำวิจัยทางการตลาด การออกแบบการบริการที่ช่วยเพิ่มการกระจายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการแปรรูปสินค้านมพรีเมียมและช่องทางการตลาด         ที่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสู่ตลาดผู้บริโภคในสังคมเมือง

โครงการฯ ได้คัดเลือกเกษตรกร 3 ฟาร์มเป็นต้นแบบผลิตน้ำนมภายใต้ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์”โดย  ทั้ง 3 แบรนด์มีความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์แตกต่างกันได้แก่ เพชรพนามิลค์ นมจากฟาร์มที่มีการเลี้ยงโคนมด้วยหญ้าสดคุณภาพดี NP Dairy นมจากฟาร์มโคนม zero waste ที่มีการจัดการของเสียในฟาร์มแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) และ Be More Milk นมจากฟาร์มโคนมอินทรีย์ที่ได้ผ่านการรับรอง ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์นมสดพรีเมียมพาสเจอไรซ์และกรีกโยเกิร์ตจาก 3 ฟาร์มต้นแบบดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพัฒนารูปแบบและทดสอบตลาดแล้วทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาฯ      ลิโด้คอนเน็ค สยามสแควร์  และการจำหน่ายผ่านกลุ่มไลน์แอปพลิเคชัน

“ผลการทดสอบตลาดเป็นที่น่าพอใจ และยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการบริโภคนมที่สดใหม่จริงๆ และมีผู้บริโภคหลายคนที่สามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากนมที่เคยบริโภค” ผศ.น.สพ.ธนศักดิ์ กล่าว

ต้นแบบธุรกิจ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์” เพื่อเกษตรกรไทย

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ หวังให้ต้นแบบธุรกิจ “สระบุรีพรีเมียมมิลค์” นำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการผลิตน้ำนมรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเสริมรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้เพิ่มขึ้น เกิดธุรกิจการแปรรูปนมที่กลุ่มเกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการ สร้างความยั่งยืนให้อาชีพการเลี้ยงโคนมของประเทศไทย อีกทั้งผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกผลิตภัณฑ์นมพรีเมียมเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย

“ความท้าทายในการทำงานของโครงการฯ อยู่ที่ความพร้อมในการริเริ่มธุรกิจใหม่ของเกษตรกร และสหกรณ์แต่ละแห่งมีแนวนโยบายที่แตกต่างกัน โครงการฯ จึงให้การสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพ มีความพร้อมได้เริ่มตั้งต้นธุรกิจนมพรีเมียม ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นๆ เกิดความมั่นใจในการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนมพรีเมียม”

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเสริมว่าปัจจุบันโครงการฯ กำลังศึกษาถึงต้นแบบโรงงานขนาดเล็กที่ใช้เครื่องจักรแปรรูปที่มีราคาไม่สูงมากแต่มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาให้ได้มาตรฐานซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและขยายผลต่อได้ ทั้งในด้านช่องทางการกระจายสินค้าผ่านธุรกิจการค้าปลีกสมัยใหม่(modern trade) และช่องทางการตลาดออนไลน์

ทั้งนี้ ผศ.น.สพ.ธนศักดิ์เน้นว่าโอกาสความสำเร็จของโครงการวิจัยจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดสระบุรี

“สิ่งที่โครงการทำคือการเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาคุณภาพน้ำนมจากฟาร์มซึ่งมีความสนใจที่จะยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์โดยให้เกษตรกรได้ทดลองผลิตเอง จากนั้นจึงนำน้ำนมที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกมาแปรรูปเพื่อจำหน่าย  และสร้างกลุ่มลูกค้าเพื่อทดสอบตลาด เกษตรกรจึงเกิดการเรียนรู้และพัฒนาจากการทดลองปฏิบัติจริง จนเมื่อเกษตรกรมีความมั่นใจและมีความพร้อมทางโครงการวิจัยก็ยินดีส่งมอบธุรกิจให้เป็นของเกษตรกรต่อไป”

โครงการวิจัยกำลังมองหาหุ้นส่วนนักลงทุนหรือเกษตรกรที่มีความสนใจร่วมพัฒนาธุรกิจ    นมสดคุณภาพสูงต่อไป ติดตามการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ Facebook : ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *