“ยังโอลด์ (Young-Old)…โอกาสบนโลกดิจิทัล” DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัด Inspired Research Talk แรงบันดาลใจจากวิจัยสู่โอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัล

“ยังโอลด์ (Young-Old)…โอกาสบนโลกดิจิทัล”

DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัด Inspired Research Talk

แรงบันดาลใจจากวิจัยสู่โอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัล

“โลกดิจิทัล” มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม เศรษฐกิจรายได้ อาชีพ สวัสดิการและสุขภาพ การเรียนรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผสมผสานชีวิตประจำวันของ “ผู้สูงวัย” เข้ากับพลังและสีสันใหม่ ๆ ในการร่วมสร้างความสุขและโอกาสบนโลกดิจิทัล ทำให้ผู้สูงวัยเป็นยังคงเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่มีคุณค่าและแข็งแกร่งในการพัฒนาสังคมไทย

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) จัดงาน Inspired Research Talk” ในหัวข้อ “ยังโอลด์ (Young-Old)…โอกาสบนโลกดิจิทัล” เมื่อวันพุธที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 อาคารมงกุฎ สมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การสร้างสังคมสูงวัยบนโลกดิจิทัลให้กับผู้สูงวัยและ เจนเนอเรชันเอ็กซ์ที่จะก้าวสู่ผู้สูงวัยในอนาคต โดยมี อ.ไศลทิพย์ จารุภูมิ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

“DIRU ตั้งใจจะหยิบยกงานวิจัยเรื่องการพัฒนาความรอบรู้ทางเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงทางรายได้ สุขภาพ และการใช้ชีวิตในสังคมของผู้สูงวัยบนฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยนำผลงานวิจัยดังกล่าวมาสร้างเป็นแรงบันดาลใจเพื่อผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล ในรูปแบบของงาน Inspired Research Talk” อ.ไศลทิพย์ กล่าว

จากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษ “ภาพรวมของสังคมสูงวัยกับเทคโนโลยีดิจิทัล” โดย ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ซึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงวัยในปัจจุบันที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

“หากเราสามารถที่จะทำให้ผู้สูงวัยไทยที่จะมีมากขึ้นถึง 20 ล้านคนในอนาคต มีความสามารถที่จะสร้าง productivity ให้กับสังคม ก็จะเป็นคุณูปการกับประเทศเป็นอย่างมาก งานวิจัยในครั้งนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ผู้สูงวัยจะได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง และสร้างรายได้ในอนาคต” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว

ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงบันดาลใจจากวิจัยสู่โอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัล” โดย รศ.ดร.พนม  คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาความรอบรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงทางรายได้ สุขภาพ และการใช้ชีวิตในสังคมผู้สูงอายุบนฐานวิถีชีวิตใหม่” ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องของ “พฤฒิพลัง” หรือ “Active Aging” ว่าเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูงวัยใหม่ โดยเฉพาะในอนาคตที่ผู้สูงวัยต้องท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี

“การเปลี่ยนมุมคิดผู้สูงวัยกับเทคโนโลยีสู่ Active Aging หรือผู้สูงอายุที่ยังมีพลังและกระปรี้กระเปร่า ช่วยให้ผู้สูงอายุเห็นโอกาสของตัวเองที่จะใช้เทคโนโลยีสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองในโลกดิจิทัล และช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถสร้างสังคมสูงวัยได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.พนม กล่าว

ภายในงานมีกิจกรรม Inspired Research Talk หัวข้อ “ยังโอลด์ (Young-Old) …โอกาสบนโลกดิจิทัล” โดยวิทยากรต่างรุ่นวัยจากหลายแพลตฟอร์มผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูงวัยที่ยังคงเปี่ยมล้นด้วยศักยภาพ ให้ยังคงเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่มีคุณค่าและแข็งแกร่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมไทยบนโลกดิจิทัล

คุณเกรียงไกร ช่วยดำรงสกุล วิศวกรโยธาและยูทูบเบอร์ล้านวิว ช่อง “คุยกับลุงช่าง” พูดในหัวข้อ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) กับรายได้หลังเกษียณ” โดยเน้นย้ำว่าข้อจำกัดทางอายุนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้นและไม่มีอยู่จริง ตนเริ่มต้นจากจุดที่ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายวีดิโอ การจัดแสง เสียง ฯลฯ จนมาสู่จุดที่เริ่มมีรายได้ ตนเริ่มต้นการทำเพราะอยากทำ เห็นคนอื่นทำแล้วอยากทำบ้าง ไม่ได้มองด้านรายได้จากยูทูบเป็นหลัก แต่การที่มาเป็น content creator ตนมองว่าสิ่งที่ตามมาคือโอกาสที่มีมูลค่ามหาศาล

“วันนี้เราทุกคนหลีกหนีคลื่นของเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียที่ถาโถมไม่ได้ ไม่มีเกาะ ไม่มีที่แห้งให้คุณขึ้นไปยืน มีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือปล่อยให้ตัวเองถูกซัดจมไป หรือหยิบกระดานโต้คลื่นของคุณขึ้นมาแล้วเซิร์ฟไปกับมัน ท่องไปกับเทคโนโลยี สนุกกับมัน ใช้ประโยชน์แบบยังโอลด์” คุณเกรียงไกร กล่าว

คุณมะลิ สีดี แม่ค้าผ้าไหมคนงามถิ่นอีสาน เพจ “ผ้าไหม ป้ามะลิ บุรีรัมย์” ขึ้นมาพูดในหัวข้อ “ขายของออนไลน์…เรียนรู้ง่าย รายได้ปัง” บอกเล่าประสบการณ์การขายผ้าไหมสินค้าโอท็อปของชุมชนทางออนไลน์ จนมีรายได้หลักแสนบาทต่อวัน โดยที่เริ่มต้นเรียนรู้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียใหม่ทั้งหมดในวัยสูงอายุ

“ป้าเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ชอบศึกษา ก็เลยสนใจอยากขายสินค้าออนไลน์แบบคนอื่น ๆ เป็นความภูมิใจและดีใจที่เราทำได้ใช้เป็นและขายดีมากกว่าเดิมมาก เพราะเราไม่เคยรู้ ไม่คุ้นเคยกับโลกดิจิทัลหรือเทคโนโลยีมาก่อน ไม่ต้องเปิดร้านหรือไปออกบูท ก็มีคนทักมา ขายได้ตลอด ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในช่วงที่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าที่ผ่านมา”

ทางด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่มาแบ่งปันแรงบันดาลใจในหัวข้อ “สมาร์ตลิฟวิง (Smart Living)…สูงวัย อุ่นใจ   ในบ้าน” ได้เน้นย้ำในเรื่องของ 3 พื้นที่ความสุขของผู้สูงวัย ได้แก่ สุขกาย สุขใจ และสุขสังคม ที่จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงพื้นที่ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

“เทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงวัยได้เชื่อมต่อกับคนหลากหลายวัย ก่อให้เกิดพื้นที่ความสุขทางสังคม ทั้งนี้ Hi-Tech ต้องมาพร้อมกับ HI-Touch ด้วย” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว

คุณชลิพา ดุลยากร (นะโม) ติ๊กต็อกเกอร์ต่างรุ่นวัย “Rungrangdiary” (รุงรังไดอารี) มาแชร์เรื่องราวน่ารักๆ ระหว่างคุณย่าวัย 87 ปี และหลานๆ ในหัวข้อ “เชื่อมสัมพันธ์ต่างรุ่นวัยสไตล์ติ๊กต็อกเกอร์” โดยถ่ายทอดความรู้สึกของคุณย่าที่มีต่อโลกดิจิทัลว่าช่วยให้ใกล้ชิดกับหลานๆ และครอบครัวมากขึ้น ทำให้วันแต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็วและมีค่า ทั้งยังสนุกและมีความสุขที่ได้เรียนรู้ ถือเป็นกำลังใจในช่วงปั้นปลายชีวิตที่ดี

“ในมุมมองของนะโม ผู้สูงวัยมักจะมีกำแพงอยู่ว่าฉันแก่แล้ว ฉันอาจจะทำไม่ได้ ชิงปฏิเสธไปก่อน แต่กับ   คุณย่า ไม่ว่าจะชวนท่านทำกิจกรรมอะไร คุณย่าก็จะเปิดใจลองเสมอ เรื่องเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียก็เหมือนกัน” คุณชลิพา กล่าว

ปิดท้ายที่ คุณเบ้นซ์ ณัฐพงศ์ ผาทอง นักแสดงวัยรุ่นสายรักครอบครัว ในหัวข้อ “โซเชียลมีเดีย…ต่างรุ่นต่างวัย แต่ใจแฮปปี้” ที่มาบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตนและครอบครัว ที่มีอุปสรรคคือระยะห่าง โดยมีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางเชื่อมถึงกัน

“ข้อดีของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล นอกจากใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารในครอบครัวแล้ว ยังทำให้เราได้ใช้เวลาร่วมกัน เช่น เวลาที่ผมสอนท่านให้ใช้แอปพลิเคชันหรือฟังก์ชันบางอย่างของโทรศัพท์ ก็ทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย” คุณเบ้นซ์ ณัฐพงศ์กล่าว

งาน Inspired Research Talk “แรงบันดาลใจจากวิจัยสู่โอกาสผู้สูงวัยในสังคมดิจิทัล” เป็นกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นจากจากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาความรอบรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงทางรายได้ สุขภาพ และการใช้ชีวิตในสังคมผู้สูงอายุบนฐานวิถีชีวิตใหม่” ซึ่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *