บัณฑิตจุฬาฯ กับความภาคภูมิใจ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

 

 

บัณฑิตจุฬาฯ กับความภาคภูมิใจ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

“วันรับปริญญา” เป็นช่วงเวลาที่น่าชื่นชมยินดีในความสำเร็จของบัณฑิตจากรั้วจามจุรีที่พากเพียรพยายามจนมีวันอันน่าภาคภูมิใจในวันนี้ ส่วนหนึ่งของบัณฑิตจุฬาฯ ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ได้บอกเล่าความทรงจำประทับใจที่มีต่อจุฬาฯ และฝากข้อคิดการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแก่นิสิตรุ่นน้อง

นรีกุล เกตุประภากร  (ฟรัง)

นรีกุล เกตุประภากร (ฟรัง) บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 นักแสดงและ Youtuber ช่อง laohaiFrung เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ การเข้าเรียนที่จุฬาฯ เป็นความฝันตั้งแต่เด็ก ภูมิใจที่ได้เข้ามาเรียนและจบเป็นบัณฑิตจุฬาฯ หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จจะตั้งใจเรียนเก็บเกี่ยวความรู้ในห้องเรียนให้มากที่สุด และในช่วงสอบก็จะกลับมาทบทวนเพิ่มเติม สำหรับการแบ่งเวลาเรียนกับการทำงานในวงการบันเทิง จะให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นหลัก ส่วนงานในวงการบันเทิงจะรับในวันหยุดหรือช่วงที่มีเวลาว่าง ปัจจุบันฟรังอยู่ระหว่างเป็นแพทย์ใช้ทุน อนาคตวางแผนจะกลับมาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนงานในวงการบันเทิงถ้ามีโอกาสก็อยากทำควบคู่ไปด้วยกัน

ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในจุฬาฯ ชอบสังคมจุฬาฯ ที่มีเพื่อนดี อาจารย์มีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี ช่วงเวลาที่อยู่จุฬาฯ เป็นชีวิตที่มีความสุขมาก ฟรังฝากข้อคิดแก่นิสิตรุ่นน้องในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยว่า ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านไปเร็วมาก อยากให้เก็บเกี่ยวชีวิตในมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ ทั้งเรื่องความรู้ ประสบการณ์การใช้ชีวิตต่างๆ รวมถึงเพื่อนๆ เพราะทุกอย่างมันเป็นรากฐานในการทำงาน ประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้จริง

ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ (นาน่า)

ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ (นาน่า) บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หลักสูตรนานาชาติ นักแสดงช่อง one 31 กล่าวว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่สำเร็จการศึกษา ที่ผ่านมาระหว่างเรียนก็ทำงานเป็นนักแสดงไปด้วย จึงต้องพยายามจัดการเวลาให้ดีที่สุด โดยแบ่งเวลาไม่ให้ชนกับการเรียน และรับผิดชอบเรื่องการเรียนไม่ให้ค้างคาไว้ นาน่าวางแผนอนาคตไว้ว่าจะทำงานในวงการบันเทิง ทั้งงานละคร และอาจจะทำงานเพลงซึ่งเป็นงานที่เธอรักทั้งคู่ ส่วนเรื่องการเรียนต่อถ้ามีโอกาสอยากเรียนคอร์สระยะสั้นเกี่ยวกับด้านศิลปะ

“ภูมิใจที่ได้เข้ามาเรียนที่จุฬาฯ ประทับใจจุฬาฯ ที่มีคอนเนคชั่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง การทำงานในวงการมีพี่ๆ หลายคนจบจุฬาฯ เหมือนกัน เหมือนเป็นทีมเดียวกันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว งานหลังกล้องก็เป็นงานที่สนุกมาก เพราะมีงานที่น่าสนใจให้ทำหลายอย่าง สำหรับน้องๆ นิสิตจุฬาฯ อยากบอกว่าชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นชีวิตที่สนุกสนาน ขอให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อค้นหาตัวเองให้เต็มที่” นาน่า กล่าวทิ้งท้าย

ณัฐภัทร ชาญชัยสมบัติ (บูม)

ณัฐภัทร ชาญชัยสมบัติ (บูม) บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นักแสดงจากผลงานซีรีย์ “วิศวะสุดหล่อกับคุณหมอของผม” เผยว่ารู้สึกดีใจที่จบการศึกษาเป็นบัณฑิตจุฬาฯ ได้ผ่านการเรียนวิชาต่างๆ ที่มีความยากและเข้มข้น เมื่อจบมาแล้วจึงมีความภูมิใจมาก ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนเป็นอันดับแรก และวางแผนจัดการเวลาให้ดีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องงาน ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในจุฬาฯ รู้สึกประทับใจมหาวิทยาลัยแห่งนี้เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม มัธยม จนเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้มีความผูกพันกับจุฬาฯ เป็นอย่างมาก

ณัฐภัทรได้ฝากข้อคิดแก่นิสิตรุ่นน้องในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยว่า เมื่อตั้งใจทำอะไรขอให้ตั้งใจทำให้เต็มที่ เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขในสิ่งที่ทำลงไปได้ ถ้าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็จะไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ลงมือทำ

ณัฐวุฒิ จันทะลุน

ณัฐวุฒิ จันทะลุน บัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2563 เผยถึงความรู้สึกที่ได้เป็นบัณฑิตจุฬาฯ ว่า รู้สึกดีใจที่สามารถทำตามความฝันของตนเองและครอบครัว หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จอาศัยความตั้งใจเรียนในห้องเรียนทุกวิชา ก่อนสอบก็จะมีการทบทวนบทเรียนกับกลุ่มเพื่อนๆ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในจุฬาฯ ประทับใจความเข้มแข็งทางวิชาการของคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้นิสิต รวมถึงจุฬาฯ ยังมีแหล่งทรัพยากรที่ดีมาก มีกิจกรรมให้เลือกทำได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านวิชาการ กิจกรรมค่ายอาสา สันทนาการต่างๆ

ณัฐวุฒิ อยากให้นิสิตใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ ตั้งใจเรียนร่วมกับการทำกิจกรรมไปด้วย  เพราะถ้าหากเรียนจบไปแล้วเราอาจไม่มีโอกาสกลับไปทำแบบนั้นได้แล้ว ช่วงชีวิตในจุฬาฯ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นหาตัวเองว่าสิ่งที่เรียนมานำไปใช้ในอนาคตได้อย่างไร เหมือนเป็นการมองอนาคตไปด้วยขณะเรียน

จารุวรรณ สุวรรณศาสน์

จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ (CUTIP) ผู้อำนวยการ MICE Intelligence and Innovation กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจในความพยายามที่บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ปัจจุบันที่บริบททางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรได้ออกแบบวิชาให้ตอบโจทย์ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี

การเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การวางแผนการเรียนอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกต้องมีการปรับ mindset ในการทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา จากนั้นเป็นการประเมินความเข้าใจด้วยการสอบวัดคุณสมบัติ หรือ QE ที่จะต่อยอดองค์ความรู้สู่การคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ การแลกเปลี่ยนหรือการทำโจทย์ร่วมกับเพื่อน และระยะสุดท้ายเป็นระยะวัดใจของการเป็นดุษฎีบัณฑิต จะต้องตั้งสมมติฐานในสิ่งที่เราอยากรู้และเป็นการค้นพบใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

ประทับใจการเรียนที่จุฬาฯ ที่มีเพื่อนๆ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในทุกระยะเวลาของการเรียน ทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในแบบ CUTIP ในยามที่ท้อแท้ในการเรียน เพื่อนก็จะช่วยเป็นกำลังใจให้ มิตรภาพของรุ่นคือสิ่งมีค่าเสมอ “อยากจะส่งกำลังใจให้น้องๆ นิสิตให้เดินตามเป้าหมายของการเรียนเพื่อสร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม และการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้แต่การค้นคว้าสิ่งใหม่เพื่อพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม การทำสิ่งที่มีคุณค่าย่อมแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราคิดและทำเพื่อสังคมมากกว่าตัวเอง ให้สมกับศักดิ์ศรีของการเป็นบัณฑิตจุฬาฯ” จารุวรรณ กล่าวในที่สุด

จักรพล จันทวิมล

จักรพล จันทวิมล ดุษฎีบัณฑิตสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ (CUTIP) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดที่ได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ตนได้น้อมนำพระราโชวาทไปใช้ในชีวิตประจำวัน และทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ การเรียนระดับปริญญาเอกจำเป็นต้องวางแผนชีวิตอย่างมาก นอกจากการเรียนและการทำวิทยานิพนธ์แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาโครงสร้างหลักสูตรอย่างชัดเจน แม่นยำ โดยบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ประทับใจจุฬาฯ ทั้งคณาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อน และเจ้าหน้าที่ทุกๆคน ที่สำคัญที่สุดคือจุฬาฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้ทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับโลก สามารถนำไปใช้ได้จริงนอกรั้วมหาวิทยาลัย ขอให้นิสิตใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่าที่สุด เรียนรู้โลกที่เปลี่ยนไปเพื่อมาช่วยกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ในอนาคต” จักรพล กล่าวในที่สุด

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *