คณะสื่อสารมวลชนฯ มทร.พระนคร เปิดหลักสูตร ป.ตรีต่อเนื่อง 2 ปี ดึงกลุ่มคนทำงานอัพสกิล – รีสกิล ปฏิบัติการออกแบบและผลิตสื่อขั้นสูง

เทรนด์การศึกษาในอนาคตจะเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานแบบ Lifelong Learning  อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รวมถึงการกลับมาเติมเต็มความรู้ใหม่ การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Reskill) และการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill) เพื่อตอบสนองการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน  ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่ในการเสริมสร้างสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ ความรู้ในเชิงวิชาการ ทักษะเชิงวิชาชีพ และทักษะทางสังคมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะงานด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการด้านสื่อสารมวลชนอิสระที่เข้มแข็ง ยิ่งต้องสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสวัฒนธรรมโลก ดังนั้นคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร จึงจัดทำหลักสูตรใหม่ เทคโนโลยีบัณฑิต (ทลบ.) ด้านสื่อสารมวลชน หลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี (ต่อเนื่อง) รองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  หรือผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการและต้องการเข้ามา Upskill  หรือเพิ่มวุฒิให้เป็นระดับปริญญาตรีสำหรับใช้ในอาชีพการงาน  โดยหลักสูตรนี้ต้องการขยายโอกาส ให้กับผู้ที่อยู่ในระบบแรงงานที่สนใจเข้าศึกษาต่อ ในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (ไฮปริด) วันธรรมดาเรียนแบบออนไลน์ ตอนเย็นหลังเลิกงาน และวันอาทิตย์เรียนที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อฝึกปฏิบัติในด้านวิชาชีพขั้นสูง  

ผศ.อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน  กล่าวว่า หลังจากนี้เด็กจะวิ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยยากขึ้น เพราะการเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน รูปแบบและระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงภาวะวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก  มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาบัณฑิตให้พร้อมใช้งาน สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด  ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษา จึงต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะบัณฑิตที่ก้าวสู่ธุรกิจสื่อสารมวลชน นอกจากจะต้องปรับตัวด้านการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ทั้งทักษะในการสร้างเนื้อหา และการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นพื้นฐานการทำงานด้านสื่อที่สำคัญ เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่แตกต่างได้อย่างมีคุณภาพ และมีทักษะชีวิตที่สอดคล้องกับโลกในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน และสามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต

ผศ.อรรถการ กล่าวอีกว่า  หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต  ได้กำหนดปรัชญาการผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะเป็น “One man Communication Designer” หรือสามารถทำงานด้านการสื่อสารได้เบ็ดเสร็จในหลากหลายแพลตฟอร์มสื่อ โดยมีการจัดการศึกษาประกอบด้วย 2 วิชาเอก ได้แก่ วิชาเอกการออกแบบการสื่อสารตราสินค้าเชิงบูรณาการ (Integrated Brand Communications Design)  เป็นหลักสูตรสร้างนักออกแบบการสื่อสารตราสินค้าเชิงบูรณาการ ที่เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล  มีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาให้เป็นนักออกแบบตราสินค้า การสื่อสารตราสินค้าอย่างสร้างสรรค์ โดยบูรณาการการสื่อสารการตลาด การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารตราสินค้าผ่านช่องทางสื่อหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล ที่รองรับโลกธุรกิจและอุตสาหกรรม 4.0 และวิชาเอกมัลติมีเดียดีไซน์  (Multimedia Design) เป็นหลักสูตรสร้างนักออกแบบด้านกราฟิกดีไซน์ การออกแบบแอนิเมชัน การออกแบบและผลิตเกม 2 และ 3 มิติ  การออกแบบและผลิตสื่อมัลติมีเดียด้วยเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ AR VR MR สู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษามีทักษะการออกแบบและการผลิตสื่อมัลติมีเดียขั้นสูงอย่างสร้างสรรค์ พร้อมมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านการออกแบบและผลิตงานมัลติมีเดีย เพื่อรองรับการปรับตัวของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสื่อ ที่มีแพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตามคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตตามความต้องการได้อย่างทันท่วงทีและมีการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เป็นนักสื่อสารมวลชนที่เข้าใจสังคมไทย และสามารถผลิตผลงานต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) ได้ในอนาคต  โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้หลายแขนง เช่น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์  ผู้ประกอบการอิสระขายสินค้าออนไลน์  โดยทั้งสองหลักสูตรนี้เหมาะกับการทำงานยุคใหม่ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถนำไปประยุกต์กับการงานที่ทำอยู่ได้อย่างแน่นอน  ทั้งนี้คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน  กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2566  โควตารอบที่ 1  เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ –  20 ธันวาคม 2565  ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://regis.rmutp.ac.th/  หรือโทรศัพท์ 0 2665 3777 ต่อ 6820 , 6861 ผศ.อรรถการ กล่าว 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *