ม.เกริก จัดประชุมวิชาการไทย-จีน-ซาอุฯ มุ่งเปลี่ยนงานวิจัยแบบเก่าสู่ความร่วมมือนานาชาติ แก้ปัญหาถูกจุดและยั่งยืน

วันที่ 17 ธันวาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยเกริก เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเกริกวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2565 “กระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิอาระเบีย” ณ อาคารศูนย์ประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก


ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริก เห็นความสำคัญในการจัดประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยครั้งนี้เป็นการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ กระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีนักวิชาการจากจีน ซาอุดิอาระเบียและมาเลเซียเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักวิชาการไทย เพื่อการพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เป็นประโยชน์กับส่วนรวมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติ เรียกว่า “งานวิจัยมุ่งเป้า” ทั้งนี้ กระบวนทัศน์ใหม่งานวิจัย จะช่วยตอบโจทย์ในการสร้างผลงานวิจัยที่มีประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สามารถแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยเกริก สามารถจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงมีความร่วมมือกับนานาประเทศมาอย่างยาวนาน จนสามารถสร้างผลงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยยอดเยี่ยมอันดับ 5 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชน จาก QS World University Rankings การประชุมเกริกวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2565 “กระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิอาระเบียนับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเครื่องการันตีคุณภาพได้เป็นอย่างดี


ด้าน รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกริก ให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ CBR (Community-Based Research) เน้นการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนตั้งแต่การเสนอความคิดจนถึงร่วมวางแผนดำเนินการ โดยยึดเอาความต้องการหรือปัญหาของชุมชนเป็นโจทย์ในการทำวิจัย เรียกว่านักวิจัยชาวบ้าน ที่สร้างผลงานวิจัยเพื่อสนองความต้องการของชุมชน โดยคนในชุมชนเป็นคนคิดและลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยส่วนหนึ่งสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการกับชุมชนในเขตพื้นที่บางเขน เมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงได้ขยายผลไปยังเขตสายไหม เขตหลักสี่ และพื้นที่ใกล้เคียง จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกริก กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษาแห่งอื่นด้วย

การจัดประชุมเกริกวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 18 “กระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิอาระเบีย เป็นการก้าวผ่านการวิจัยในรูปแบบเดิมที่แต่ละประเทศต่างคนต่างทำให้มาเป็นการสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกัน สามารถนำผลงานวิจัยที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับองค์กร ชุมชนหรือสังคมของแต่ละประเทศ ในเบื้องต้นมีการตั้งเป้าดำเนินงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยกับนักวิจัยของประเทศจีน และซาอุดิอาระเบีย เป็นโครงการวิจัยนำร่องในปีหน้าอย่างน้อย ประเทศละ 2-3 โครงการ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ากระบวนทัศน์ใหม่ด้านการวิจัยนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาระดับ QS Rankings และยกระดับให้สูงขึ้นต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *