โครงการสวัสดิการแจกผ้าอนามัยให้นิสิตหอพักจุฬาฯ พร้อมแจกถ้วยอนามัย ทางเลือกใหม่ใช้ได้นาน ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ทำไม“ผ้าอนามัย” ถึงต้องเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ผู้หญิงควรได้รับ “ถ้วยอนามัย” คืออะไร การเปลี่ยนมาใช้ “ถ้วยอนามัย” จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ส่งผลดีต่อผู้หญิงอย่างไร หลากหลายคำถามที่หลายคนอยากรู้ บรรณวัชร นาคสู่สุข ประธานหอพักนิสิตชาย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ผู้ริเริ่มโครงการสวัสดิการแจกผ้าอนามัยให้กับนิสิตหอพักจุฬาฯ ได้ไขข้อสงสัยในเรื่องนี้กับทีม Chula Zero Waste พร้อมเผยถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริง

จุดเริ่มต้นของสวัสดิการผ้าอนามัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายรายเดือนของนิสิตหญิง

บรรณวัชร นาคสู่สุข ซึ่งเป็นนิสิตหอพักและนิสิตโครงการจุฬาฯ – ชนบท กล่าวถึงเหตุผลของโครงการสวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉินสำหรับนิสิตหอพักจุฬาฯ ว่า เพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนิสิตหญิงในหอพักที่ไม่ได้พกผ้าอนามัยติดตัวมาในวันที่มีประจำเดือนวันแรก ซึ่งปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นเรื่องของการเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นิสิตที่มาจากต่างจังหวัด หลายคนที่เลือกมาอยู่   หอในเพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย จากการที่ได้ทำแบบสำรวจพบว่านิสิตหญิงเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของผ้าอนามัยขั้นต่ำเดือนละ 200 บาทโดยเฉลี่ย รวมทั้งนิสิตมีรายจ่ายที่จำเป็นแฝงอยู่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการมีสวัสดิการผ้าอนามัยจะสามารถช่วยให้นิสิตหญิงลดรายจ่ายรายเดือนที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ เป็นการประหยัดเงินในส่วนนี้

“โครงการนี้ตั้งต้นจากงบที่มีอยู่ คณะกรรมการนิสิตหอพักจุฬาฯ ได้คิดวางแผนว่าจะแจกผ้าอนามัยจำนวนคนละเท่าใด และเลือกรูปแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด ระหว่างวางแผนก็ลองออกไปขอสปอนเซอร์ด้วย ก่อนจะจัดซื้อผ้าอนามัยก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าผ้าอนามัยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อคำนวณแล้วจึงได้ข้อสรุปว่างบ 14,200 บาท สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ประมาณ 400 กล่อง เพียงพอสำหรับ 3-4 เดือน ซึ่งคิดเป็น 10 % ของนิสิตหญิงที่อยู่ในหอพักนิสิตจุฬาฯ โดยการแจกผ้าอนามัยใช้วิธี First come, first serve” บรรณวัชรกล่าว

การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่จับต้องได้

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมผู้ชายถึงเป็นคนริเริ่มโครงการนี้ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนิสิตหญิงในเรื่องผ้าอนามัย บรรณวัชรให้คำตอบว่า “เรามีเพื่อนเป็นผู้หญิง เห็นช่วงเวลาที่เขาปวดท้อง ไม่สบายตัวจนต้องประคบร้อน หรือกินยา ไหนจะต้องมาวุ่นวายกับการซื้อและพกผ้าอนามัยอีก พวกนี้เป็นรายจ่ายทั้งนั้น มันหนักขนาดไหนเราไม่มีทางเข้าใจ เป็นความแตกต่างทางเพศกำเนิดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง ส่วนตัวผมมองว่าเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า เราอยากจะผลักดันให้ Community ของเราให้ดีขึ้น”

“ถ้วยอนามัย” ตัวเลือกใหม่ให้ประโยชน์ทั้งในแง่สังคมและสิ่งแวดล้อม
จากโครงการแจกผ้าอนามัยฟรีในระยะเริ่มแรก ด้วยจุดประสงค์ที่อยากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่นิสิตหอพักจุฬาฯ ปัจจุบันโครงการได้เพิ่มการแจกถ้วยอนามัย (Period Cup) ถ้วยซิลิโคนที่มีมาตรฐานใช้ทางการแพทย์ ใส่ในช่องคลอดเพื่อรองรับประจำเดือน มีข้อดีในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นอายุการใช้งานที่นานถึง 10 ปี ทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำได้เลย และสามารถลดขยะได้ ที่สำคัญคือช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งน่าจะเกิดความยั่งยืนกว่าผ้าอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยได้รับการสนับสนุนความรู้และ Workshop ในการใช้งานจาก Cups of Joie ที่มาช่วยอธิบายวิธีการใส่ถ้วยอนามัย วิธีการทำความสะอาด วิธีการวัดช่องคลอดเพื่อเลือกไซส์ให้เหมาะกับร่างกายเรา

“ในบริบทสังคมไทย การใช้ถ้วยอนามัยใส่เข้าไปในร่างกายอาจจะทำให้ใครหลายคนกังวลใจ ซึ่งเราไม่ได้บังคับว่าคุณต้องใช้ถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยแบบแผ่นเราก็มีให้เลือก แต่เราก็อยากสนับสนุนคนกลุ่มแรกๆ ที่เปิดใจพร้อมลองใช้ถ้วยอนามัย อาจารย์ที่ทำหน้าที่อนุสาสก ดูแลหอพักนิสิตก็เห็นด้วยกับการที่เราจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของนิสิต จึงได้อนุมัติงบประมาณเต็มจำนวนตามที่เราขอไป เพราะประโยชน์มอบให้กับคนที่ต้องการจริงๆ และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เห็นผลได้จริง”

บรรณวัชรกล่าวเพิ่มเติมว่าการใช้ถ้วยอนามัยอาจจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแพง เพราะถ้วยอนามัย 1 ชิ้นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 300 – 1,200 บาท แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน แต่หลายคนเลือกเป็นถ้วยอนามัยเพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และสามารถใช้ได้นานเป็น 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นนิสิตปีไหน เราก็ให้การสนับสนุนถ้วยอนามัยให้

.

“อยากเห็นโครงการแจกผ้าอนามัยอยู่เป็นสวัสดิการระยะยาวของหอพักนิสิตช่วยลดค่าใช้จ่ายรายเดือน 
ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ลดขยะ ทั้งหมดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จับต้องได้”
.

ซื้อครั้งเดียว ลดขยะ ลดปัญหาจากผ้าอนามัยแบบปกติ

มาลองฟังมุมมองของผู้เข้าร่วมโครงการกันบ้าง วิมลพร จันระวงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าเริ่มใช้ถ้วยอนามัยเมื่อปีที่แล้ว ที่เปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัยเพราะว่าตอนนั้นประจำเดือนมาไม่ปกติ จึงหมดเงินไปกับผ้าอนามัย รู้สึกว่าเปลืองมาก ขยะก็เยอะมากด้วย ทำให้เริ่มลองใช้ถ้วยอนามัย เป็นการซื้อครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ต้องซื้อซ้ำหลายรอบ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัย ตอนนี้ร่างกายดีขึ้นแล้ว หมอให้ทานยาปรับฮอร์โมน ประจำเดือนก็เลยมาปกติแต่ก็ยังใช้ถ้วยอนามัยต่อไป ชีวิตเปลี่ยน ไม่ต้องเสียเงินให้กับค่าผ้าอนามัยทุกเดือน ชอบตรงที่พอใส่แล้วเหมือนเราไม่ได้ใส่อะไรเลย ทำกิจกรรมหรือเวลานอนก็สะดวกมากขึ้น ไม่มีปัญหาการเลอะ”

“แต่ละเดือนผู้หญิงเสียค่าใช้จ่ายไปกับผ้าอนามัยไปเยอะมาก การแจกถ้วยอนามัย แจกครั้งเดียวแต่ใช้ได้นานหลายปี เมื่อเทียบกันแล้วการใช้ถ้วยอนามัยมันยั่งยืนกว่า  ไม่คิดว่าที่หอพักนิสิตจุฬาฯ จะแจกถ้วยอนามัย พอเห็นโปสเตอร์โครงการก็รีบสมัครมาเลย เพราะถ้วยอนามัย 1 อันก็ค่อนข้างแพง แอบไปเช็คราคาตัวที่ได้มาก็ 890 บาท แต่โครงการนี้แจกฟรี เป็นโครงการที่ดี อยากสนับสนุนให้มีต่อไปอีกเรื่อยๆ”  วิมลพร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวโครงการแจกผ้าอนามัยฟรีของหอพักนิสิตจุฬาฯ ได้ที่ Facebook Page

คณะกรรมการนิสิตหอพักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/RCUCOMMITTEE

ติดตามกิจกรรมส่งเสริมการสร้างสรรค์สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ได้ที่ Chula Zero Waste

http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/ และทาง Facebook page : chulazerowaste https://www.facebook.com/chulazerowaste/

เรื่องราว/ภาพ : ปวิตรา ชำนาญโรจน์ Chula Zero Waste

เรียบเรียง : นิธิกานต์ ปภรภัฒ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *