ม.ศรีปทุม เปลี่ยนชื่อ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมหลักสูตรใหม่ มุ่งสร้างบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปลี่ยนชื่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใหม่เป็น “คณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์”มุ่งสร้างบัณฑิต Talent ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตที่มีความหลากหลาย และปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีจุดแข็งในกระบวนการคิด และการออกแบบที่ใช้ Design Thinking ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ เผยทักษะด้านดีไซน์ คือรากฐานสำคัญในการทำงาน คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อก้าวข้ามทุกวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง ชี้ชัดธุรกิจและองค์กรที่ก้าวข้ามวิกฤติดิจิทัลดิสรัปชั่น โควิดดิสรัปชั่น ล้วนมีบุคลากรหรือหน่วยงาน ที่มีนักนวัตกรรมการออกแบบที่มีพื้นฐานของ Design Thinking เป็นแรงขับเคลื่อน ชูจุดเด่นหลักสูตรใหม่ปี 2566 นวัตกรรมการออกแบบ Design Innovation ผสานองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นครบทุกมิติ ความเข้าใจมนุษย์ การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ การบริหารและจัดการด้านการตลาด สอนครบทั้งการดีไซน์ Product, Process, Service Design, Business Model เรียน 3 ปี ทำงานร่วมกับธุรกิจ และอุตสาหกรรมจริง 1 ปี การันตี จบพร้อมเป็น Talent ขององค์กร และธุรกิจ หรือเป็นสตาร์ทอัพสร้างธุรกิจส่วนตัว ตั้งเป้าสร้างบุคลากรตามนโยบายรัฐบาล สร้างคนให้ตรงกับงานตอบโจทย์ความต้องการทุกอุตสาหกรรม รับเทรนด์ Creative Economy ที่มีทิศทางเติบโตในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

.

อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยว่าการเปลี่ยนเป็นชื่อ คณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ แทนชื่อเดิมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และมาพร้อมหลักสูตรใหม่ Design Innovation ด้วยจุดแข็งในการมุ่งสร้าง Talent ผ่านการปลูกฝังรากฐาน Design Thinking ทักษะด้านการออกแบบ ที่มาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อปรับเปลี่ยน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เท่าทันโลก พร้อมช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มธุรกิจส่วนตัว ธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็ก ตลอดจนองค์กรขนาดใหญ่ โดยตลาดแรงงานในยุค Creative Economy ทั้งในและต่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และมีวิกฤตหลากหลายรูปแบบเข้ามาติสรัปชัน ส่งผลให้หลายธุรกิจเผชิญกับความท้าทายอยู่ตลอดเวลา และจะรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนธุรกิจที่ไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางธุรกิจของตนเองได้ อาจจะไปต่อได้ยากในระยะเวลาอันสั้นนี้

.

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น และยุคโควิคดิสรัปชั่น หลายธุรกิจล้มและปิดกิจการไปจำนวนมากเพราะไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มีบางธุรกิจสามารถปรับตัวเติบโตและอยู่รอดได้ จากการศึกษาข้อมูลและทำงานกับหลายอุตสาหกรรมพบว่า ธุรกิจหรือองค์กรที่ปรับตัวได้ล้วนมีคนหรือหน่วยงานด้าน Design thinking โดยเฉพาะ

.

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มโมเดลธุรกิจคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพที่เน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยแกนหลักบนโมเดลธุรกิจก็ล้วนมาจากรากฐานของ Design thinking ที่ผ่านการศึกษาพฤติกรรม วิเคราะห์ ความเข้าใจคน สู่การดีไซน์แผนธุรกิจผสมผสานกับ นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัย เพราะโจทย์หลักของสตาร์ทอัพคือการค้นหาโซลูชันใหม่ ๆ ของธุรกิจ หรือเพื่อแก้ Pain point ของคนที่มองหาโซลูชัน ทั้งนี้ ด้วยโมเดลธุรกิจดังกล่าวที่สำเร็จ และก้าวข้ามทุกวิกฤติมาได้ จะเห็นได้ชัดว่าโครงสร้างหลังบ้านขององค์กรธุรกิจล้วนมาจากบุคลากรที่มีรากฐานทักษะการออกแบบเชิงความคิด หรือ Design Thinking สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ปรับทิศทางธุรกิจเท่าทันโลก และความต้องการตลาด สู่การขับเคลื่อนองค์กรก้าวข้ามทุกวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *