บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อมด้วย Application ตรวจการได้ยิน ด้วยคำพูดภาษาไทยครั้งแรกในไทย งานวิจัยจากจุฬาฯ ความร่วมมือกับประเทศอังกฤษ

ภาวะสมองเสื่อม” มีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย วิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และนวัตกรรม ด้วยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ University College London (UCL) ได้พัฒนา Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ ช่วยป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายได้

            จากการเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 14 เรื่อง “บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อมด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ได้นำเสนอความก้าวหน้านวัตกรรมแอปพลิเคชัน ในการตรวจภาวะสมองเสื่อมจากเสียงพูดที่ได้ยิน วิเคราะห์การแปลผลทางด้านภาษาของสมองว่ามีภาวะความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษสร้างเป็นแอปพลิเคชันครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมให้ดาวน์โหลดใช้งานง่ายได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดการเสวนา

            ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพันธกิจในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อก้าวไกลในสังคมโลก ซึ่งสอดคล้องกับโครงการวิจัย Thai Speech Acoustic Virtual Reality (Thai-SAVR) test for the detection of early dementia  โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจาก Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร ผ่านทางสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก British Council และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผ่านโครงการ Thai-UK World-class University Consortium และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

“ความร่วมมือในการสร้าง Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด ฉบับภาษาไทย ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองด้วยตัวเองเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่อาจเกิดสมองเสื่อมในอนาคต ร่วมกับศาสตร์แห่งการวิจัย ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชน และเชื่อมต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากจุฬาฯ สู่การนำไปใช้งานจริงในอนาคตต่อไป” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

            อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้สำหรับทดสอบการรับรู้เสียงพูดเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะสมองเสื่อม เป็นการตรวจการได้ยินและความสามารถในการจับใจความจากจากคำพูดและประโยคที่เป็นภาษาไทย โดยใช้เทคนิคแบบ Virtual Reality (VR) โดยจำลองสภาพสถานการณ์จริงในการรับรู้เสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ เพื่อตรวจดูการแปรผลของสมองด้านการใช้ภาษา ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีโอกาสเป็นสมองเสื่อมหรือไม่ ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการ Transforming System through Partnership ภายใต้ทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund) ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยินคือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นการตรวจวัดความสามารถในการได้ยินด้วยภาษาไทย ทำให้สามารถประเมินผลได้ดีที่สุด และมีใบรับรองจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีการประเมินข้อบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงสมองเสื่อม 10 ข้อ

“ความร่วมมือในโครงการนี้มุ่งหวังให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางห้องปฏิบัติการวิจัยของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องการตรวจการได้ยินด้วยคำพูด เพื่อดูการแปลผลของสมองด้านภาษา การใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานได้ผ่าน Mobile Application เพื่อใช้ทดสอบได้ทันทีด้วยตนเอง หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะสมองเสื่อมก็สามารถติดต่อขอตรวจเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ที่รับการทดสอบแล้วพบว่าประสบปัญหาทางด้านการได้ยินสามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกเครื่องช่วยฟังได้ ดังนั้นอยากให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์ว่าสมควรต้องใส่เครื่องช่วยฟังสามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในอนาคต” อ.ดร.พญ.นัตวรรณ กล่าว

            อ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการ “หู” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน การวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการได้ยินในโครงการนี้ทำในห้องปฏิบัติการไร้เสียงสะท้อน ซึ่งจะมีลำโพง 8 ตัวที่มีเสียงเข้ามาจากทิศทางต่างๆ แต่ละตัวทำมุม 30 องศา ตรงกลางห้องจะเป็นเก้าอี้ให้ผู้ทดสอบไว้นั่งฟังเสียงลำโพงแต่ละตัว ผนังทุกด้านทำจากวัสดุรูปลิ่มดูดซับเสียงกันเสียงสะท้อน โดยให้อาสาสมัครฟังเสียงพูดและเสียงรบกวนพร้อมๆ กันเพื่อวัดว่าอาสาสมัครจับใจความจากประโยคที่ได้ฟังได้ในระดับใด นำไปสู่การประมวลผลเสียงพูดในระดับสมองต่อไป ซึ่งทางทีมวิจัยได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการทดสอบการรับรู้เสียงพูดในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่อกับหูฟัง ในอนาคตอันใกล้เราจะสามารถใช้แอปพลิเคชัน ในการทดสอบในห้องเก็บเสียงของโรงพยาบาลทั่วไปได้ รวมทั้งพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนในการสร้างห้องประเมินการได้ยินแบบปรับให้อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น สถานพยาบาลในต่างจังหวัด โรงเรียนและในหน่วยงานตามแหล่งชุมชน

            ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คาดการณ์ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน จะมี 5-10% หรือประมาณ 1 ล้านคน ที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) ซึ่งโรคที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือ โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ หากเกิดอาการสมองเสื่อมแล้วจะทำให้เกิดความยากลำบากต่อตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาอาการสมองเสื่อมได้  ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจึงมีความสำคัญ ภาวการณ์ได้ยินลดลงเป็นความเสี่ยงสำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ก่อนที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุจึงควรตรวจคัดกรองก่อนเกิดภาวะนี้โดยการตรวจการได้ยินและตรวจการทำงานของสมองร่วมด้วย

“ผู้สูงอายุไม่ควรนิ่งนอนใจ การที่หูไม่ได้ยิน หูตึง ส่วนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอายุ แต่บางครั้งอาจจะเกิดจากสมองเสื่อมได้ ถ้าสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็วยิ่งดีเพื่อตรวจอาการให้แน่ชัด”  ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทรกล่าวในที่สุด

แอปพลิเคชันสำหรับตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทยเพื่อบ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อม เปิดให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โทรศัพท์ทั้งในระบบ IOS และ Android ในชื่อว่า “Eartest by Eartone”

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *