มูลนิธิซิตี้จับมือมูลนิธิ EDF จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” เปิดโอกาสให้นักเรียนอาชีวะ และชุมชมแสดงผลงาน พร้อมประกวดการนำเสนอผลงาน

มูลนิธิซิตี้จับมือมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” เปิดตลาดนัดให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง และชุมชนอีก 15 ชุมชน ในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ แสดงผลงาน พร้อมฟังบรรยายเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 โดยวิทยากรขวัญใจวัยรุ่น หรั่ง พระนคร (อัครินทร์ ปูรี) เจ้าของแบรนด์กีตาร์แฮนด์เมด การประกวดพรีเซนต์นำเสนอผลงานของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หลังจากเข้าร่วมโครงการมาเป็นเวลา 12 เดือน โดยวิทยาลัยวานิชบริหารธุรกิจที่นำเสนอโครงการท่องเที่ยววิถีไทยตามสไตล์คนเมืองนนท์สามารถคว้ารางวัลนำเสนอผลงานยอดเยี่ยมไปครอง

 

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทยและผู้แทนมูลนิธิซิตี้ เปิดเผยว่า “มูลนิธิซิตี้เชื่อว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ พวกเขาเหล่านี้คือแรงขับเคลื่อนคุณภาพที่จะสรรสร้างพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคง รวมไปถึงมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน ครั้งนี้นับเป็นปีที่ แล้ว ที่มูลนิธิซิตี้จับมือกับมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) สนับสนุนโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program  เพื่อพัฒนาศักยภาพทักษะนักเรียน นักศึกษาอาชีวะในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ สู่การพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่ของตนเอง หลังประสบความสำเร็จกับโครงการ Skilling Up Youth to Grow the EEC’s Growth Program สำหรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะในจังหวัดชลบุรีและระยองก่อนหน้านี้ มูลนิธิซิตี้มั่นใจว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่นักเรียน นักศึกษา ระดับแกนนำจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา 15 แห่ง ตลอดจนถึงชุมชนอีก 15 ชุมชน เข้าร่วมโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” ทุกคนต่างเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในการแชร์ประสบการณ์จากการเข้าร่วมอบรมและการลงมือทำกิจกรรมที่ครอบคลุมทักษะอาชีพ ทักษะการเงิน และการพัฒนาธุรกิจร่วมกับชุมชนไปยังเพื่อน ๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนถึงสมาชิกในชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

นางพลอยภัสสร์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) “มูลนิธิ EDF ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ มูลนิธิซิตี้เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนในวัยเรียนและต้องการมีส่วนร่วมผลักดันพวกเขาเหล่านี้ ให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพนอกเหนือ จากการเรียนในห้องเรียนเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป โครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” มุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะจากสถาบันการศึกษาทั้งหมด 15 แห่ง และชุมชมในพื้นที่อีก 15 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการได้สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับทั้งเรื่องอีคอมเมิร์ช (E-commerce) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) การดีไซน์บรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) การวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analysis) การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตลอดจนถึงการนำทักษะสายอาชีพจากการเรียนในชั้นเรียนไปปรับใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน อีกทั้งยังเป็นโครงการนำร่องในสถาบันการศึกษาหรือชุมชนของตนเองเพื่อพัฒนาและทำโครงการอื่น ๆ ที่ยั่งยืนต่อไป สำหรับงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังมี หรั่ง พระนคร (อัครินทร์ ปูรี) เจ้าของแบรนด์กีตาร์แฮนด์เมด เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 นอกจากนั้นกิจกรรมไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือการเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาทั้งหมดที่เข้าร่วมได้พรีเซนต์กิจกรรมผลงานโดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงธุรกิจเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งปรากฏว่าวิทยาลัยวานิชบริหารธุรกิจจังหวัดนนทบุรีสามารถตอบโจทย์หลักเกณฑ์การตัดสินคว้ารางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอโครงการท่องเที่ยววิถีไทยตามสไตล์คนเมืองนนท์ ทั้งนี้สถาบันการศึกษาและชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการได้นำผลงานของตนเองมาจัดแสดงในงานตลาดนัดแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย”

นางสาวกนกพร ฟังเร็ว นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) วิทยาลัยวานิชบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “โครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” เป็นโครงการที่ดีมากค่ะ พวกเราได้เรียนรู้การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การมีส่วนร่วมของนักเรียนที่เป็นเยาวชนในการทำงานร่วมกับชุมชนใกล้กับวิทยาลัยของเราเป็นสิ่งที่ดี ทั้งยังได้มีโอกาสร่วมกับชุมชนในการยกระดับ แก้ปัญหาด้านการเงิน การทำรายรับรายจ่ายซึ่งถือเป็นการช่วยชุมชนโดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน พวกเราได้มีโอกาสนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก เรียนรู้การทำขนมไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง รู้จักสร้างรายได้แม้ว่าเรากำลังอยู่ในวัยเรียนก็ตาม พวกเราสัญญาว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดไปแชร์กับเพื่อน ๆ ในวิทยาลัยค่ะ”

นายธนกร อัครโรจนธร และนางสาวมณีรัตน์ แผ่นผา นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.2) วิทยาลัยพงษ์สวัสดิ์ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า “พวกเราได้เรียนรู้มากมายจากการที่วิทยาลัยของเราเข้าร่วมโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” พวกเราได้นำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนและการเข้าร่วมอบรมในชุมชนไปปรับใช้กับโครงการที่ร่วมกันทำขึ้น ได้ประสบการณ์การทำงานในชีวิตจริง ได้เห็นชีวิตของชุมชนที่ไม่เคยเห็น อีกทั้งยังได้ช่วยให้พวกเขามีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น พวกเรามีมุมมองใหม่ ๆ และได้เห็นโลกกว้างขึ้นไม่ใช่มีแต่ประสบการณ์การเรียนในชั้นเรียน พวกเราต่างได้เรียนรู้การมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ได้เพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์อาชีพที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเราสำหรับการทำงานในอนาคตต่อไป”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *