ราชมงคลพระนคร หนุนการศึกษาที่เท่าเทียม เปิดโควตารับ น.ศ.ผู้พิการ ต่อ ป.ตรี 2566 จำนวน 50 คน

จากสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย จากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ประจำปี 2565  มีผู้พิการจำนวน 2,153,519 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่อยู่ในวัยเด็กและวัยศึกษา จำนวน 150,354 คน แต่มีคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา จำนวน 21,503 คน โดยอันดับการศึกษาที่คนพิการได้รับมากที่สุด ได้แก่ประถมศึกษา ร้อยละ 81.16 มัธยมศึกษา ร้อยละ 12.04 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ร้อยละ 2.52 และระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 0.59  ซึ่งสรุปได้ว่าคนพิการจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้น้อยลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น  

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาสำหรับคนพิการที่มีความสามารถในการเรียนรู้ ให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีสิทธิทางการศึกษาเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป  ตามประกาศแห่งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้มหาวิทยาลัยมีนโยบายสนับสนุนการรับนักศึกษาพิการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ดังนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้เปิดรับสมัครนักศึกษาพิการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ประเภทโควตา รอบที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2566  จำนวน 50 คน  โดยผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 2.00 ขึ้นไป หรือตามที่คณะกำหนด เป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้พิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีความประพฤติเรียบร้อย  

ดร.ณัฐวรพล กล่าวว่า ราชมงคลพระนคร เริ่มรับนักศึกษาผู้พิการทางร่างกายเข้ามาเรียนรวมกับนักศึกษาปกติในระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2553  โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาผู้พิการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งหมด 6 คน และสำเร็จการศึกษากำลังเข้ารับปริญญาบัตรจำนวน 1 คน  สำหรับคณะที่เปิดรับนักศึกษาผู้พิการ ได้แก่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สาขาเครื่องกล สาขาอุตสาหการ จำนวน 15 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางการได้ยิน ใส่เครื่องช่วยฟังและสามารถโต้ตอบได้  คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า สาขาอาหารและโภชนาการ สาขาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร สาขาคหกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีอาหาร จำนวน 8 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางการได้ยิน ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  คณะบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี สาขาการจัดการ สาขานวัตกรรมทางการเงินและการลงทุน สาขาการตลาด จำนวน 4 คน  เป็นผู้พิการบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ตาบอดสี  คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล สาขาภาษาไทยประยุกต์เพื่ออาชีพและนวัตกรรมการสื่อสาร จำนวน 4 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย แขน ขา  คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น สาขาเทคโนโลยีเสื้อผ้าและการจัดการธุรกิจแฟชั่น สาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ สาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ-ออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จำนวน 4 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว  

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สาขาการออกแบบบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการพิมพ์ สาขาสถาปัตยกรรม จำนวน 9 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ จำนวน 2 คน เป็นผู้พิการบกพร่องทางการเคลื่อนไหวขา กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 


มหาวิทยาลัยฯ มีความยินดียิ่งที่ได้เห็นนักศึกษาผู้พิการเข้ามาเรียนรวมกับนักศึกษาปกติแล้วทุกคนมีอนาคต มีอาชีพ และเป็นที่ยอมรับในสังคม  ซึ่งนอกจากความสำคัญในด้านการเรียนการสอน แล้วยังจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกแบบครบวงจร ทั้งการเรียน การให้คำปรึกษา พร้อมปรับปรุงอาคารสถานที่ เช่น ลิฟต์โดยสาร ทางลาดในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับนักศึกษาอีกด้วย  ทั้งนี้กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาตั้งแต่บัดนี้ – 22 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สนใจสมัครผ่านระบบออนไลน์ที่ http://admission.rmutp.ac.th  สอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โทรศัพท์ 0 2665 3777 ต่อ 6636, 6303, 6307, 6311” อธิการบดี กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *