มทร.ธัญบุรี จัดนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ 2566 สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมภูมิปัญญางานช่างแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม

มทร.ธัญบุรี ยูเนสโกและมูลนิธิเอสซีจี จัดนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ 2566 “Conservation Carpentry Fair 2023” สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมภูมิปัญญางานช่างแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

อาจารย์ศักดิ์สิทธิ โสมนัส คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) เผยว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี ได้จัดงานนิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ 2566 หรือ Conservation Carpentry Fair 2023 โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เมธา ศิริกูล รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี เป็นประธานเปิดนิทรรศการ และนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวแสดงความยินดี พร้อมด้วย Mr. Feng Jing หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวขอบคุณ ณ ห้องประชุมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี

งานนิทรรศการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะสำหรับคนทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ส่งเสริมทั้งภูมิปัญญางานช่างแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสม ผ่านวัสดุ เครื่องมือ และวิธีการในการทำงานอนุรักษ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย โดยครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันและกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มทร.ธัญบุรี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยูเนสโก รวมถึงกลุ่ม Bangkok Sketchers และกลุ่ม Vernadoc Thailand ที่นำผลงานที่ทรงคุณค่ามาร่วมจัดแสดง กิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วยพื้นที่ 5 ส่วน สำหรับการบรรยายและเสวนาเชิงวิชาการและเทคนิค พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายเครื่องมือช่างจากภาคธุรกิจ พื้นที่สาธิตวิธีการทำงานไม้แบบดั้งเดิมจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย เมียนมาร์และญี่ปุ่น พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการงานอนุรักษ์ของไทย พื้นที่ประกวดภาพถ่าย และการจัดแสดงผลงานของสถาบันและกลุ่มทางวิชาชีพต่าง ๆ

การจัด“นิทรรศการงานไม้อนุรักษ์ 2566 ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านงานช่างอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ ที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่งเสริมภูมิปัญญางานช่างแบบดั้งเดิมร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม ผ่านวัสดุ เครื่องมือและวิธีการในการทำงาน และเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สร้างการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะงานไม้ เพื่อสืบสานคุณค่างานช่างไม้ให้คงอยู่และพัฒนาสืบเนื่องต่อไป” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวสรุป.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *