องค์การกิจการฮัจย์ซาอุฯ เยือนไทย เคาะ ! ม.เกริก มหาวิทยาลัยแห่งแรก บินฝึกงานประเทศซาอุดิอาระเบีย 10 คนแรกของไทย

องค์การกิจการฮัจย์ซาอุฯ เยือนไทย เคาะ ! ม.เกริก มหาวิทยาลัยแห่งแรก บินฝึกงานประเทศซาอุดิอาระเบีย 10 คนแรกของไทย ฤดูกาลฮัจย์ 2566 นี้

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงองค์กรเอกชนด้านกิจการฮัจย์ของกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เดินทางเยือนประเทศไทย และเข้าเยี่ยมวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำโดย เชคมะห์มูด อะกี้ล ดะมันฮูรีย์ ตำแหน่ง กรรมการบริหารบริษัทมะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ของกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ พร้อมด้วย อาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ อาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม และนักศึกษา ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริก มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับหน่วยงานจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญชาวไทยในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และเป็นโอกาสที่ได้หารือแลกเปลี่ยนนำไปสู่การพัฒนากิจการฮัจย์ประเทศไทยในทุกมิติ

ทั้งนี้ เชคมะห์มูด อะกี้ล ดะมันฮูรีย์ ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ ทิศทางการบริหารจัดการกิจการฮัจย์ของประเทศซาอุดีอาระเบียทั้งภาครัฐและเอกชน ตามวิสัยทัศน์ 2030 “ และยังประกาศมอบทุนการฝึกอบรมที่นครมักกะห์ โดยให้คัดเลือกนักศึกษาเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม มหาวิทยาลัยเกริกชุดแรกจำนวน 10 คน ทางฝ่ายซาอุดิอาระเบียยินดีดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก วีซ่า และมีค่าตอบแทนในห้วงเวลาการปฏิบัติงานให้เป็นขวัญกำลังใจ ทั้งนี้เพื่อนักศึกษาจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการบริหารกิจการฮัจย์และการสื่อสาร เพื่อบริการและดูแลผู้แสวงบุญและทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไป

อาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ กล่าวถึงหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลาม เอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ตลอดจนเอกอุตสาหกรรมฮาลาล และเอกการเงินอิสลาม ที่มีความสำคัญและตอบสนองความต้องการของสังคม ประเทศชาติ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซาอุดิอาระเบียที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านงานบริการและภาษาอาหรับจำนวนมาก ตามวิสัยทัศน์ 2030 อีกด้วย

นอกจากนี้ อาจารย์อำพล ขำวิลัย ยังได้กล่าวขอบคุณการเดินทางมาเยี่ยมวิทยาลัยในครั้งนี้ และมอบทุนฝึกอบรมปฏิบัติงานแก่นักศึกษา ชุดแรก จำนวน 10 คน ถือเป็นกำลังใจกับความเหน็ตเหนื่อย ทุ่มเทของคณาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา และเป็นรางวัลที่นักศึกษาตั้งใจเรียน ฝึกฝน พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และยังสนองต่อนโยบายฟื้นสัมพันธ์ระหว่าง ไทย – ซาอุดิอาระเบีย ในด้านการศึกษา และแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *