ผู้เชี่ยวชาญจากสวนสุนันทาชี้ PM2.5 คือพาหนะนำสารอันตรายร้ายแรง แนะเลือกใช้หน้ากากกันฝุ่นโดยเฉพาะ

อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สวนสุนันทา ออกโรงยืนยัน ฝุ่น PM2.5 คือยานพาหนะเล็กจิ๋วกว่าเส้นผมที่นำพาสารเคมีอันตรายสู่ร่างกายคนเรา ก่อให้เกิดหลายโรคร้ายแรง แนะการป้องกันพื้นฐานคือการใส่หน้ากาก แต่ควรเป็นหน้ากากที่มีมาตรฐานป้องกัน PM2.5 ได้ดี
รองศาสตราจารย์ ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยกรณีที่ประเทศไทย ติดอันดับต้น ๆ ของโลกในเรื่องของมลภาวะเป็นพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งกำลังก่อให้เกิดหลายปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของประชาชนว่า เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มันมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของคนเรา 20 เท่า หรือที่เรียกว่าเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เทียบง่าย ๆ กับขนาดเส้นผมของคนคือ 50 ไมครอน มันจึงเล็กมากทำให้ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า แต่ทว่ามันเป็นยานพาหนะที่นำพาสารเคมีอันตราย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือสารโลหะหนักต่าง ๆ ที่มันสามารถเกาะมากับฝุ่น จึงทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจนอาจก่อให้เกิดโรคเช่น ระบบทางเดินหายใจ มะเร็งในระยะยาวได้

อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันของพี่น้องประชาชนก็คือการใส่หน้ากากอนามัย โดยถ้าใส่หน้ากากธรรมดามันจะป้องกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่มาก ซึ่งหากต้องการป้องกันในระดับดี ควรใช้หน้ากากแบบ N95 แต่อาจจะหายใจยากขึ้นเพราะมันปิดมิดชิด
“อยากจะให้ทุกคนตระหนักในเรื่องอันตรายของ PM2.5 และช่วยกันดูแลป้องกัน โดยเฉพาะนักศึกษาหรือผู้ที่มีความรู้ ควรจะช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดหรืออยู่ห่างไกล เพื่อให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจาก PM2.5 กันทุกคน” รองศาสตราจารย์ ดร.รณบรรจบ กล่าวในที่สุด
🚩ข้อมูลเพิ่มเติม
ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วประเทศไทย http://air4thai.pcd.go.th/
เอกสารที่เกี่ยวข้อง https://online.anyflip.com/mgrpw/aivk/mobile/
*******************
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และโสตทัศนูปกรณ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
IG : ssru_official
Line: @482vxgab
Twitter : ssru_official
E-mail : pr@ssru.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *