กมธ.อุดมศึกษาฯ จัดสัมมนา “การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาผลผลิตยางพาราไทย” มุ่งเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้แก่เกษตรกร

กมธ.อุดมศึกษาฯ จัดสัมมนา “การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลผลิตยางพาราไทย” มุ่งหวังหาแนวทางเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยและสร้างรายได้แก่เกษตรกร

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องเมจิก 2 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลผลิตยางพาราไทย” โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ เปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ “การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลผลิตยางพาราไทย” พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ สมาชิกวุฒิสภา หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมสัมมนา

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 24-25 ล้านไร่ กระจายตามทุกภูมิภาคของประเทศ โดยสัดส่วนของภาคใต้จะปลูกยางพารามากที่สุด ผลผลิตยางพาราของประเทศไทย จะส่งออกประมาณ 70 % และแปรรูปภายในประเทศซึ่งเป็นการแปรรูปมูลค่าน้อย ปานกลาง-สูง ประมาณ 25-30 % รายได้ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรหรือภาพรวมของประเทศจึงยังไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น การแปรรูปยางพาราจะต้องทำอย่างครบวงจรและสอดคล้องกับสังคมโลกในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การปลูกและการแปรรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการแปรรูปเพื่อประโยชน์ในกลุ่มด้านการแพทย์ กลุ่มการเกษตร กลุ่มการคมนาคมขนส่ง และกลุ่มสันทนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะผลักดันเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราที่เป็นยางธรรมชาติให้มากขึ้นดีขึ้นและใช้ประโยชน์มากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ยางเทียม ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการผลิตและแปรรูปยางพาราดำเนินการอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สำหรับสมาชิกวุฒิสภา มีบทบาทที่เกี่ยวข้องในเรื่องของกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ หรือกลุ่มธุรกิจ Startup ได้มีโอกาสรับการสนับสนุนเงินทุน ความรู้ และกฎกติกาที่จะเป็นประเด็นของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมมาขับเคลื่อนและจะเกิดการบูรณาการ กฎหมายที่เป็นเรื่องการควบคุมจะมุ่งเน้นเรื่องของการส่งเสริมมากขึ้น และอีกฉบับคือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับประเด็นที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะนำมาสรุปวิเคราะห์จัดทำเป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพาราไทยมาใช้ประโยชน์สร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับภายในงานสัมมนามีการอภิปรายเรื่อง “สถานการณ์ยางพาราไทย : การผลิต การตลาด การส่งออก” โดยนายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย นายกรกฎ กิตติพล เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย และนายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง รองประธานฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การอภิปราย “งานวิจัยและนวัตกรรมกับการแปรรูปยางพาราไทย” โดยรศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.วีระศักดิ์ สมิทธิพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และการอภิปราย “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่ตลาดโลก” โดยนายชวินทร์ ศรีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอส. อุตสาหกรรมยาง นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และนางพรพรรณนิล ศตวรรษธำรง ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *