ศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่บริการวิชาการ เพิ่มคุณค่าศิลปวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรม 

อาคารอเนกประสงค์  หมู่บ้านคันทรีปาร์ค 15  ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) นำทีมโดยอาจารย์ณัฐพล ซอฐานานุศักดิ์ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ลงพื้นที่บริการวิชาการ เพื่อเพิ่มคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช บุญทองเล็ก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ ความถนัด ในด้านต่าง ๆ ซึ่งการให้บริการวิชาการนอกจากเป็นการทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ คือ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อาจารย์อันนำมาสู่การพัฒนานักศึกษา โดยมีการดำเนินงานตามพันธกิจหลัก 4 ด้านคือ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม และด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ สร้างผลงานวิจัย สร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมด้านศิลปกรรมศาสตร์ บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างคุณค่า หรือมูลค่าเพิ่มของผลิตผลให้แก่ประเทศ

นายประเวศ ครองคุ้ม นักพัฒนาชุมชนเทศบาลตำบลบางเตย เล่าว่า ในการจัดหาโครงการทางเทศบาลบางเตยคัดเลือกโครงการที่ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปต่อยอดได้ ทำได้จริง ในขณะนี้ทางกลุ่มดำเนินการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน สินค้าของทางกลุ่มได้แก่ ตะกร้าจากผักตบชวา เป็นศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้

ทางด้าน นางสมร ฟ้าคุ้ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 เล่าว่า ชุมชนคันทรีปาร์ค 15 เป็น 1 ในชุมชนที่ได้รวมตัวกัน โดยกำลังดำเนินการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านลาดด้วนขึ้นมา โดยได้รับการส่งเสริมผ่านเทศบาลตำบลบางเตย ให้คนในชุมชนมีรายได้ ตะกร้าจากผักตบชวา เป็นสินค้าที่ได้รับการส่งเสริมของทางชุมชน สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้มาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มทร.ธัญบรี ม.ธรรมศาสตร์ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ให้ความรู้ในการทำบรรจุภัณฑ์ การทำตลาดออนไลน์

นางสาวอภิสรา จันทร์สุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า ครั้งแรกที่ได้ลงชุมชน ส่วนใหญ่ช่วยอาจารย์ออกบูทในงานสัมมนาต่าง ๆ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ดี ได้นำความรู้ที่เรียนมาต่อยอด ให้ความรู้คนในชุมชนที่มีอายุมากกว่า ได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ ก่อนที่จะออกไปทำงานจริง

          การบริการวิชาการในครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ระลึกจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ระลึกจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้วยลูกปัดหินสี เพื่อเสริมสร้างรายได้แกชุมชน โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงเพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี หรือ นวัตกรรม มาขับเคลื่อนให้เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า หรือ บริการ ที่เพิ่มคุณค่าหรือต่อยอดเชิงพาณิชย์ ร่วมกับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนเป้าหมาย ด้วยองค์ความรู้ และนวัตกรรม กิจกรรมประกอบด้วย การทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากลูกปัดหินสี (พวงกุญแจ และเครื่องประดับ) ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเศษหนัง (พวงกุญแจ และกระเป๋าเหรียญ) ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเครื่องปั้นดินเผา (ที่รองแก้ว) ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเศษผ้า (ถุงผ้า)ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเทียนหอม (ดอกไม้เทียนหอม) และการทำบรรจุภัณฑ์ของที่ระลึก

.

ชลธิชา ศรีอุบล    กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *