ครูผู้ช่วยเอกปฐมวัยได้รับความนิยม ขณะที่อรรถบำบัด ภาษาอังกฤษธุรกิจ ไม่มีผู้สมัครสอบ!

ครูผู้ช่วยเอกปฐมวัยได้รับความนิยม ขณะที่อรรถบำบัด ภาษาอังกฤษธุรกิจ ไม่มีผู้สมัครสอบ!
ครูผู้ช่วยเอกปฐมวัยได้รับความนิยม ขณะที่อรรถบำบัด ภาษาอังกฤษธุรกิจ ไม่มีผู้สมัครสอบ!

สพร.เผยแห่สมัครสอบครูผู้ช่วยเอกปฐมวัยมากสุด ขณะที่อรรถบำบัด และภาษาอังกฤษธุรกิจ ไม่มีผู้สมัครสอบ สพม.กท 1ไม่มีปัญหาเรื่องวิชาเอกไม่ตรงปก

.

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ดร.สุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เปิดเผยว่า ตามที่สพฐ. เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2566  ที่ผ่านมานั้น ข้อมูลเบื้องต้น มีผู้สมัครอยู่ที่ 171,954 คน  ใน 205 เขตพื้นที่ฯ อัตราว่างที่สามารถบรรจุแต่งตั้งได้จำนวน 7,813 อัตรา ใน 63 กลุ่มวิชา โดยมีเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่เปิดรับสมัครสอบ 41 แห่ง สำหรับ กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา 21,530  คน สังคมศึกษา 19,771 คน ภาษาอังกฤษ 16,698 คน คณิตศาสตร์ 16,108 คน และพลศึกษา 15,741 คน  ส่วนกลุ่มสาขา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สมัคร คือ อรรถบำบัด และภาษาอังกฤษธุรกิจ  ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา /อ.ก.ค.ศ.สศศ.ที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ สศศ. 4,492 คน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สระแก้ว เขต1 จำนวน 3,135 คน  สพป.สงขลา เขต 3 จำนวน 3,019 คน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) นนทบุรี 2,808 คน และสพป.บึงกาฬ จำนวน 2,708 คน

ผอ.สพร.กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมการรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  แต่พบปัญหาใน 3 ประเด็น คือ 1. ตัวผู้สมัครไม่มีความพร้อมเรื่องเอกสาร เช่น มหาวิทยาลัยออกใบรับรองการจบการศึกษาล่าช้า ทำให้ไม่สามารถไปขอหลักฐานที่คุรุสภาออกให้สำหรับปฏิบัติหน้าที่สอน เพื่อใช้สมัครสอบได้ทัน  ใบรับรองแพทย์มีปัญหา บางคนไม่ยอมให้ตรวจปัสสาวะซึ่งเมื่อมาถึงเขตฯ ก็ต้องให้ไปตรวจเพื่อขอรับใบรับรองแพทย์ใหม่ ทำให้การสมัครเกิดความล่าช้า หรือบางรายก็ไม่ยอมตรวจเลย 2.  ปัญหาจากระบบการรับสมัคร ซึ่งกำหนด คำว่ากลุ่มวิชาเอก หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ไว้  ทำให้บางเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดรับสมัครมีการตีความที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ บางเขตพื้นที่ฯ ตีความว่า ต้องจบสาขาวิชาเอกคอมพิวเตอร์โดยตรง  ขณะที่บางมหาวิทยาลัยสอนคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการสมัคร เป็นต้น ขณะที่บางสาขาวิชาเอก ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ล่าช้า ทำให้สมัครเกือบไม่ทันวันสุดท้าย

“มีผู้สมัครร้องเรียนมาที่ผมจำนวนหนึ่ง เบื้องต้นได้แก้ไขปัญหาโดย ประสานเขตพื้นที่ฯที่มีปัญหาให้ปลดล็อก สาขาวิชาเอก หรือกลุ่มวิชาเอก  หรือบางเขตพื้นที่ฯ แนะนำให้ไปสมัครในเขตพื้นที่ฯที่เปิดรับสาขาดังกล่าวแทน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว อาจจะกระทบกับการรับสมัครสอบครั้งนี้บ้าง เพราะเป็นการทำหน้าที่รับสมัครและจัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วยครั้งแรก ของ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ หลังโอนภารกิจงานบริหารบุคคล คืนจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และเชื่อว่า การจัดสอบครั้งต่อไป จะไม่มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอีก  และปัญหาที่ 3. ผู้สมัครรอดูว่าเขตพื้นที่ฯไหน มีผู้สมัครน้อย และตัดสินใจไปสมัครจนนาทีสุดท้าย ทำให้บางรายไม่สามารถสมัครสอบได้ทัน” ดร.สุรินทร์ กล่าวและว่า  ทั้งนี้ สพฐ. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ภายในวันที่ 13 มิถุนายน สอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 24 มิถุนายน ภาค ข วันที่ 25 มิถุนายน ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ส่วนการ สอบภาค ค จะประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือ อ.ก.ค.ศ.สศศ.กำหนด ทั้งนี้จะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่สำคัญ สพฐ.ได้วางมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้น โดยห้ามมิให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รองผู้อำนวยการสพท. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสาร จำหน่าย แจก หรือกระบวนการอื่นใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบโดยเด็ดขาด สอดส่อง กำกับดูแล ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต รวมทั้งป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการสอบ ขณะเดียวกัน ยังมีการกำหนดบุคคลในทางลับ เพื่อตรวจสอบติดตาม บุคคลที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต และมิให้แต่งตั้งเป็นกรรมการที่เกี่ยวกับการสอบครั้งนี้ด้วย

.

ด้าน ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1  (สพม.กท 1) กล่าวว่า ในส่วนของ สพม.กท 1 ไม่มีปัญหาการรับสมัครสอบครูผู้ช่วย  เนื่องจากได้แก้ไขประกาศมาใช้คำว่ากลุ่มวิชาเอก ซึ่งเป็นการเปิดกว้าง  เพราะแต่ละสถาบันการศึกษาจะเรียกชื่อวุฒิไม่เหมือนกัน ถ้าเรียกชื่อวุฒิอย่างอื่นไม่ตรงตามที่ประกาศของเขตนั้น ๆ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่รับสมัคร แต่การประกาศเป็นกลุ่มวิชาจะเปิดโอกาสให้ชื่อวิชาที่ใกล้เคียงสมัครได้โดยให้นับหน่วยกิต

.

แหล่งที่มา : คลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *