“สะสมประสบการณ์ในต่างแดน” สาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว วิทยาลัยดุสิตธานี พานักศึกษาตะลุยลาว เรียนรู้การออกแบบการท่องเที่ยวแบบ Outbound Tourism

เมื่อไม่นานมานี้ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว วิทยาลัยดุสิตธานี จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร “TSI – Exploring Laos: Integrated Learning with Travel Stylist and Service Design for Tourism Attraction” เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การลงมือออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวจริงและได้สัมผัสบรรยากาศของการเป็นผู้จัดทัวร์ในสถานที่จริง ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

การศึกษาภาคสนามในครั้งนี้เป็นการประยุกต์การเรียนรู้ 2 รูปแบบเข้าด้วยกัน นั่นคือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การลงพื้นที่ ภายในกิจกรรมนี้ นักศึกษาได้ลงพื้นที่ในเมืองเวียงจันทน์ เมืองวังเวียง และเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อศึกษาสถานที่ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน นักศึกษายังได้มีโอกาสในการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง รวมถึงเตรียมการก่อนการเดินทางแบบครบวงจรและนำเสนอข้อมูลในบทบาทของมัคคุเทศก์ ซึ่งทำให้ได้ฝึกฝนทักษะทางวิชาชีพในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบนวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว การศึกษาข้อมูลเชิงลึก การจัดการและบริหารงานด้านการจัดนำเที่ยว และการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างทริป โดยมีความท้าทายเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศที่คุ้นเคย 

นางสาวสมิทธานันท์ ธนาภิวงศ์ นักศึกษาผู้ร่วมออกแบบทริปในครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “หนูประทับใจกิจกรรมในครั้งนี้มากเพราะว่าพวกหนูได้มีโอกาสเป็นคนออกแบบทริปทั้งหมดด้วยตัวเอง พวกหนูมีอิสระในการเลือกสถานที่และกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้และประสบการณ์ที่พวกหนูสนใจ โดยแต่ละคนจะได้รับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แนะนำสถานที่นั้น ๆ ด้วย อาจารย์ก็จะคอยให้คำแนะนำว่าในทริปเราควรเสริมอะไรบ้างเพื่อให้เป็นแผนการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์มากขึ้น ที่สำคัญคือพวกหนูได้เปิดหูเปิดตามาก ๆ และได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยเพราะเจอสิ่งที่เหนือความคาดหมายหลายอย่าง ทั้งที่เที่ยว unseen ที่คนท้องถิ่นแนะนำและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์ก็ช่วยเหลือพวกเราเต็มที่ เป็นประสบการณ์จริงที่มีค่ามาก ๆ เลยค่ะ”

ในขณะที่นางสาวพิมพ์วรีย์ มาสยารักษ์ นักศึกษาอีกคนที่ได้รับประสบการณ์อันล้ำค่านี้ได้กล่าวว่า “ประทับใจที่ได้ไปต่างประเทศกับเพื่อน ๆ ครั้งแรกค่ะ ถึงแม้ว่าจะเจออุปสรรคบ้าง ไม่เป็นไปตามแผนบ้าง แต่พวกเราก็ได้เรียนรู้เรื่องความละเอียดรอบคอบในการวางแผนการเดินทางและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างช่วงที่ไปเป็นหน้าฝนค่ะ พวกเราก็เตรียมวิธีการรับมือมาประมาณหนึ่ง พอไปหน้างาน ฝนตกหนักมากในวันที่เราวางแผนจะไปทำกิจกรรม outdoor เช้าวันนั้นเลยต้องมาวางแผนกันใหม่ ประสานงานกันใหม่จนทำให้ทริปยังราบรื่นได้อยู่ สิ่งที่หนูได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอนาคตของหนูได้ด้วยค่ะ เพราะหนูอยากทำงานในบริษัททัวร์ การที่ได้ลงมือทำเองทั้งหมดทำให้หนูได้เห็นทุกขั้นตอนที่ต้องเตรียมการ ต้องสื่อสาร เพื่อให้เราทำงานได้สะดวกและราบรื่น โดยที่อาจารย์จะช่วยเสริมในส่วนที่พวกหนูมองไม่เห็นค่ะ”

การเดินทางในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนานักศึกษาในทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีทักษะที่นำมาพัฒนามีดังนี้ ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านการออกแบบนวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยวจากประสบการณ์การเดินทางในต่างประเทศ ด้านการสำรวจ การจัดการและบริหารงานด้านการจัดนำเที่ยว และทิศทางการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การเลือกที่พัก การเลือกแหล่งท่องเที่ยว การเลือกร้านอาหาร รวมถึงการเลือกวิธีการเดินทางและการทำงานของผู้นำเที่ยวแบบ Outbound ในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งเสริมพัฒนาการด้านอาชีพอย่างยั่งยืน เป็นไปตามความต้องการในการป้อนบัณฑิตที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคแรงงาน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ Skill Mapping สำหรับกลุ่มสายงานอาชีพด้านการท่องเที่ยวโดยมีวัตถุประสงค์ของโครงเพื่อศึกษาวิธีการและฝึกปฏิบัติการดำเนินงานของผู้นำเที่ยวแบบ Outbound Tourism เพื่อศึกษาวิธีการจัดการด้านการท่องเที่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชน ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเพื่อศึกษาการออกแบบรายการนำเที่ยวเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่มได้อย่างสร้างสรรค์

วิทยาลัยดุสิตธานี มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่อุตสาหกรรมการบริการ โดยมีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคแรงงาน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้เป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบริการของไทยไปสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียนและของโลกในลำดับถัด ๆ ไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *