เช็ก ! สายการเรียนม.ปลาย มีกี่สาย เรียนอะไร ต่ออะไรได้บ้าง

 

เมื่อการศึกษาระดับมัธยมต้นสิ้นสุดลงและกำลังจะก้าวสู่มัธยมปลาย แผนการเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาในอนาคต เนื่องจากแผนการเรียนที่เลือกจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการเลือกแผนการเรียนในช่วงมัธยมปลายจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนไปสู่สายอาชีพที่ต้องการประกอบในอนาคตได้ โดยแผนการเรียนสายต่างๆ สามารถต่อยอดสู่ระดับมหาวิทยาลัยในคณะและสาขาต่างๆ ดังนี้

 

 

1.แผนการเรียน วิทย์-คณิต 

 

 

เป็นแผนการเรียนที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเน้นวิชาคณิตพื้นฐาน คณิตเพิ่มเติม ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นพิเศษ ผู้ที่เรียนแผนการเรียนสายวิทย์คณิตนั้นจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคณะและสาขาวิชา โดยจะมุ่งเน้นไปทางหมวดวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่จะมีความเจาะลึกทั้งด้านเนื้อหามากขึ้น เนื่องจากจะมีทั้งการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น

คณะแพทยศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ โดยจะสามารถแยกย่อยออกเป็นสาขาวิชาเฉพาะทางได้มากมายเช่น กุมารเวชศาสตร์ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ นรีเวชวิทยา หรือจิตวิทยา เป็นต้น

คณะทันตแพทยศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก การรักษาฟันหรืออวัยวะภายในช่องปากโดยเฉพาะ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสัตว์ การรักษาเยียวยาสัตว์โดยจะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องของอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายสัตว์

คณะเภสัชศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับยาทั้งหมด ทั้งโครงสร้างยาต่างๆ ส่วนผสม และผลข้างเคียงของยาเมื่อนำเข้าสู่ร่างกาย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสาขาหลักคือ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) และ กลุ่มวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care)

คณะสหเวชศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเฉพาะทาง เช่น สาขาเทคนิคการแพทย์ จะเรียนรู้ในเรื่องของการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้และดูแลรักษาอุปกรณ์ทางการแพทย์ สาขากายภาพบำบัด จะเรียนรู้ถึงการดูแลสุขภาพโดยใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด หรือ สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารประเภทต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพด้านโภชนาการและลดอัตราการเจ็บป่วย

คณะประมง ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการสร้างประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ได้ประโยชน์สูงสุด

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ มีการทดลอง ตั้งสมมติฐาน การสังเกต ไปจนถึงการใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อวัดค่า วัดปริมาณ และคำนวณความแม่นยำของผลการทดลองที่ได้

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬาเพื่อที่จะสามารถเล่นกีกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงศึกษาเกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตร การนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่อุตสาหกรรม การแปรรูป การบรรจุ ซึ่งเป็นการต่อยอดผลผลิตนั้นๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้ได้มากยิ่งขึ้น

คณะวนศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงแนวทางการอนุรักษ์ป่า

 

 

2. แผนการเรียน ศิลป์-คำนวณ

 

 

เป็นแผนการเรียนที่เน้นศึกษาในรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน คณิตศาสตร์เพิ่มเติม และภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นสายที่อยู่กึ่งกลาระหว่างแผนการเรียนสายวิทย์-คณิต และศิลป์-ภาษา เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้เรียนที่อาจยังไม่แน่ใจว่าตนเองเหมาะกับสายไหนมากกว่า เนื่องจากสามารถเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยตามคณะสายวิทย์-คณิตหรือสายศิลป์-ภาษาได้ในภายหลัง เช่น

คณะบริหารธุรกิจ ศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจแบบครอบคลุม ทั้งการจัดการเชิงกลยุทธ์ หลักการบริหารองค์กรหรือการตัดสินใจทางธุรกิจ

คณะโลจิสติกส์ ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ รวมไปถึงกระบวนการวางแผนสินค้าคงคลังและการจัดเก็บ

คณะเศรษฐศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยมีกราฟหรือตัวเลขเป็นเครื่องมือในการบอกค่าต่างๆ 

คณะนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน/วารสารศาสตร์และสื่อมวลชน ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งการพูด การเขียน การถ่ายภาพ การถ่ายวิดิโอ เพื่อผลิตเป็นสื่อต่างๆ เช่น สื่อวิทยุ สื่อภาพยนตร์ สื่อนิตยสารหรือ สื่อออนไลน์ เป็นต้น

คณะศิลปกรรมศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและประยุกต์ศิลป์ เช่น การวาดภาพ การปั้น การพิมพ์ ดนตรี และการรำ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และอนุรักษ์งานศิลปกรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบต่อไป

คณะมนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/อักษรศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ภาษาในการสื่อสาร วัฒนธรรม พฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ รวมไปถึงวิทยาการต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การตลาด และการท่องเที่ยว เป็นต้น 

คณะนิติศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หรือที่เรียกกันว่ากฎหมาย ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำไปสู่การอยู่รวมกันอย่างสงบสุขในสังคมนั้นๆ 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้างโดยผสมผสานวิทยาการต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์

คณะจิตวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ทั้งภายนอก คือ สมอง  สีหน้า ท่าทางการแสดงออก และภายใน คือ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความเชื่อ เพื่อทำความเข้าใจกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างดีที่สุด

 

 

3.แผนการเรียน ศิลป์-ภาษา

 

 

เป็นแผนการเรียนที่เน้นศึกษาหมวดวิชาภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 อาทิ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาบาลี หรือภาษาเกาหลี เป็นต้น โดยคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้เรียนสายศิลป์-ภาษาในระดับมหาวิทยาลัย เช่น

  • ภาษาจีน

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)

คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ (มหาวิทยาลัยเกริก, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ)

คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน (มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

  • ภาษาญี่ปุ่น

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร)

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาภาษาญี่ปุ่น (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาตะวันออก เอกภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารบริหารธุรกิจญี่ปุ่น (สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น)

คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสาร (มหาวิทยาลัยสยาม)

คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยบูรพา)

  • ภาษาเกาหลี

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาเกาหลี (มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาภาษาเกาหลี (มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาตะวันออก (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

  • ภาษาฝรั่งเศส

คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คณะมนุษยศาสตร์ สาขาการแปล (ภาษาฝรั่งเศส-ไทย) (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

คณะศิลปศาสตร์ สาขาการแปล (ภาษาฝรั่งเศส-ไทย) (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

คณะอักษรศาสตร์ สาขาฝรั่งเศสศึกษา (มหาวิทยาลัยศิลปากร)

คณะศิลปศาสตร์ สาขาฝรั่งเศสศึกษา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาฝรั่งเศส (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

คณะโบราณคดี สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส (มหาวิทยาลัยศิลปากร)

  • ภาษาบาลี

คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาบาลีสันสกฤต (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

  • ภาษาเยอรมัน

คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาเยอรมัน (คณะอักษรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร)

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาษาเยอรมันเพื่ออาชีพ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

คณะครุศาสตร์ สาขาวิชามัธยมศึกษา วิชาเอกภาษาเยอรมัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

4. แผนการเรียน ไทย-สังคม

 

 

 

เป็นแผนการเรียนที่มุ่งศึกษาในหมวดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิชาสังคมศึกษา โดยจะครอบคลุมทั้งเรื่องของหน้าที่พลเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ โดยผู้เรียนสายไทย-สังคมสามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในคณะและสาขาวิขาที่หลากหลาย เช่น

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลในสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

คณะรัฐศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับสังคม การเมืองการปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อการรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

คณะโบราณคดี ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องราว ความเป็นมาของมนุษย์ในอดีตผ่านหลักฐานทางโบราณคดี 

คณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานทางการศึกษาต่างๆ และวิชาชีพครู เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาให้แก่บุคคลในสังคมสืบต่อไป

ดุริยางคศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับดนตรีอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ดนตรี ประเภทของดนตรี เครื่องดนตรี ทฤษฎีเกี่ยวกับดนตรี หรือการฝึกโสตทักษะ เป็นต้น

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพในการบริการในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการและการดำเนินการในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น

 

 

 

 

 

แผนการเรียนทั้ง 4 สายนี้เป็นแนวทางสำหรับน้องๆ ม.ต้น ที่กำลังลังเลหรือไม่แน่ใจว่าจะไปต่อสายไหนดี หรือหากใครที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าสนใจในสายการเรียนไหน สามารถลองทำแบบทดสอบเพื่อเป็นแนวทางในการค้นหาแผนการเรียนที่สนใจได้ที่ คลิก

 

 


 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *