ม.รังสิต สร้างห้องเรียนดนตรีจีน ขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก

สาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือภาษาจีน กระทรวงศึกษาธิการจีน (Center for Language Education and Cooperation: CLEC) จัดตั้งห้องเรียนดนตรีจีน ห้องเรียนที่มีอัตลักษณ์ในด้านบูรณาการการสอนภาษาจีนผ่านเครื่องดนตรีจีน และเพื่อส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้อย่างมีความสุข ภายในงานพิธีเปิดห้องเรียนดนตรีจีนนั้น ได้รับเกียรติจาก ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานในพิธีเปิด ดร.พิชยพันธุ์  ชาญภูมิดล

รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยสุดา ม้าไว  คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจากทั้งฝ่ายประเทศไทย และประเทศจีน ได้แก่ อัครราชทูตเฝิง จวิ้นอิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา  สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ผู้อำนวยการจาง เคอ   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจีนวิทยาใหม่ กระทรวงศึกษาธิการจีน ผู้อำนวยการจ้าว เยี่ยนชิง ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพ เป็นต้น

ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการได้ร่วมเป็นสักขีพยานในช่วงสำคัญเช่นนี้ ประเทศไทยและระเทศจีนมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ทั้งสองประเทศต่างก็มีประวัติศาตร์ และวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เรื่องราวของดนตรีก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรม ดนตรีไม่เพียงเป็นโน้ตหรือท่วงทำนองเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรม เป็นไมตรีที่ดีระหว่างเราสองประเทศ ผมจึงเชื่อเหลือเกินว่าห้องเรียนดนตรีจีนนี้นั้นจะเป็นสถานที่แห่งความสุข เป็นสีสันให้กับนักศึกษา เป็นห้องเรียนที่บูรณาการด้านการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างสมบูรณ์แบบ นักศึกษาจะได้เข้าใจเกี่ยวกับดนตรีจีนอย่างลึกซึ้ง สัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนผ่านห้องเรียนดนตรีแห่งนี้ และมีส่วนร่วมในการสร้างคุณูปการใหม่ ๆ ในการพัฒนามิตรภาพจีน-ไทยต่อไป

ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปิดห้องเรียนดนตรีจีนในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของวิทยาลัยของพวกเราเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการนำเสนองาน ที่พวกเราได้จัดเตรียมการตลอดปีที่ผ่านมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

“โครงการห้องเรียนดนตรีภาษาจีน เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (CLEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งพัฒนาการศึกษาภาษาจีนระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล โดยให้บริการด้านภาษาจีนสำหรับผู้คนทุกมุมโลกในการเรียนรู้ภาษาจีนและเข้าใจประเทศจีน อีกทั้ง ยังเป็นการเปิดกว้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีความหลากหลายวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “ภาษาจีนและดนตรี” โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งห้องเรียนที่มี      อัตลักษณ์ในด้านบูรณาการการสอนภาษาจีนผ่านเครื่องดนตรีจีน และให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ ผ่านกิจกรรมดนตรีและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ เปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างยาวนานกว่า 24 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาสาขาวิชาภาษาจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน เช่น การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะทางศิลปวัฒนธรรมจีน มหกรรมตรุษจีนรังสิต การประกวดทักษะความสามารถภาษาจีน การประกวดร้องเพลงจีน การจัดแสดงดนตรีจีน เป็นประจำทุกปี รวมไปถึงการจัดหลักสูตรอบรมภาษาจีนระยะสั้นต่าง ๆ แก่บุคคลภายนอก การจัดค่ายฤดูร้อนในประเทศจีน การจัดเสวนาภาษาจีน การจัดอบรมครูภาษาจีน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาสาขาวิชาภาษาจีนเข้าสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK) ต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) สำนักงานกลางกรุงปักกิ่ง และเมื่อไม่นานมานี้เองนั้น ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ เดินทางมาเยือนสาขาวิชาภาษาจีน เพื่อหารือประเด็นการร่วมกันจัดตั้ง “ห้องเรียนดนตรีจีน” ที่มหาวิทยาลัยของเรา ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่าย เพื่อเตรียมการต่าง ๆ จนมาถึงความพร้อมในวันนี้ จึงได้ให้มีการจัดตั้ง “ห้องเรียนดนตรีภาษาจีน” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก ด้วยเป้าหมายที่จะผสมผสานภาษาจีนและดนตรีเข้าด้วยกัน ทั้งยังจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ซาบซึ้งในความงดงามของวัฒนธรรมและดนตรีจีน ไปพร้อมกับการศึกษาภาษาจีน นักศึกษาจะไม่เพียงแต่เข้าใจจังหวะ วาทศาสตร์และอารมณ์ความรู้สึกของภาษาจีนอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังจะเข้าใจด้วยว่าดนตรีส่องสะท้อนภาษาจีนโบราณ วรรณกรรมสมัยใหม่ เรื่องราวพื้นบ้าน ฯลฯ ซึ่งกันและกันอย่างไร และต่างร่วมกันสร้างรูปแบบศิลปะอย่างมีสีสันได้งดงามเพียงใด ครูเองก็เชื่อมั่นว่า ห้องเรียนดนตรีจีนนี้ จะเป็นการเปิดบทใหม่ของการศึกษาวัฒนธรรมและดนตรีจีนที่สร้างสรรค์ และมีเพียงที่นี่เท่านั้นในตอนนี้ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *