เอ็นไอเอ จับมือส.วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย – ภาคการศึกษานิวซีแลนด์ หนุนเด็กรุ่นใหม่เป็นนวัตกรผ่าน “การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2566” โชว์ “เด็กปรินส์รอยแยลส์ฯ เชียงใหม่” คว้ารางวัลสูงสุด พร้อมเตรียมส่งออกสู่เวทีนานาชาติ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ การศึกษาประเทศนิวซีแลนด์ (Education New Zealand) และมหาวิทยาลัย Canterbury สานต่อการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2566 หรือ THAILAND INNOVATION AWARDS 2023 (TIA) โครงการที่ช่วยยกระดับต่อยอดแนวคิดและผลงานวัตกรรมของเยาวชนไทย ด้วยการเสริมกระบวนการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีควบคู่กับการจัดการธุรกิจ ผ่านกิจกรรมค่ายปฏิบัติการรูปแบบออนไลน์ที่มีกระบวนการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และกิจกรรมเครือข่ายเพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ผ่านการให้คำปรึกษาทั้งด้านเทคนิควิชาการและการจัดการธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาผลงานและเรียนรู้แผนธุรกิจ ส่งเสริมการคิดเป็นธุรกิจนวัตกรรม โดยผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท การศึกษาดูงานในต่างประเทศ และยังมีโอกาสขอรับเงินทุนสนับสนุนสำหรับทดลองผลิตและจำหน่ายจริงตามกลไกการสนับสนุนของ NIA

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมโยงคนและหน่วยงานมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนวัตกรรม ที่เข้มแข็ง โดยในส่วนงานเยาวชน NIA มีการเชื่อมโยงครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาเยาวชนของประเทศไทยให้เป็นคนเก่งและมีความพร้อมในการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมผ่านกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนหันมาสนใจคิดค้นนวัตกรรม มีนิสัยการค้นคว้า วิจัย ประมวลผล และต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์

“โครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เป็นโครงการหนึ่งที่ NIA เข้าร่วมดำเนินการกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเฟ้นหาเยาวชนที่อยากสร้างทักษะนวัตกรมาเข้ารับการพัฒนาต่อยอดความสามารถผ่านกระบวนการที่เครือข่ายพันธมิตรร่วมกันสนับสนุน ทั้งการอบรมแบบเข้มข้นในค่ายนวัตกรรุ่นเยาว์ และการจับคู่ให้คำแนะนำการพัฒนาผลงาน โดยปีนี้ได้รับความร่วมมือจาก Education New Zealand ในการยกระดับทักษะทั้งด้านความเป็นผู้ประกอบการและการสื่อสารโครงการเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นและโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาที่ไร้ขอบจำกัด ดังนั้น การประกวดนวัตกรรมไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ทดลอง และบ่มเพาะ เพื่อผลักดันเยาวชนไทยให้สามารถเติบโตไปเป็น “นวัตกร” ผู้ขับเคลื่อน “นวัตกรรม” ของประเทศต่อไปในอนาคต NIA เชื่อมั่นว่าการดำเนินการนี้จะช่วยสร้างทักษะสำคัญแห่งอนาคต สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม หรือ INNOVATION NATION” ในที่สุด”

ฯพณฯ นายโจนาธาน คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติม เน้นย้ำความสำคัญของการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกที่เชื่อมโยงกัน โดยเชื่อมั่นในมิตรภาพและความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และประเทศไทยในด้านการศึกษา และนวัตกรรมที่จะมีต่อไปในอนาคต และได้ให้กำลังใจเยาวชนให้มีความมุ่งมั่นและพยายามไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ไม่ได้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นการยืนยันถึงศักยภาพที่ไม่มีขอบเขตด้านความสร้างสรรค์ของมนุษย์

สำหรับโครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ปี 2566 นี้ มีจำนวนผลงานนวัตกรรมที่ส่งสมัครเข้ามาทั้งหมด 453 ผลงาน แบ่งเป็น ปริญญาตรี/ปวส. จำนวน 37 ผลงาน และ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. จำนวน 416 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบเพื่อเข้าค่ายพัฒนาผลงาน จำนวน 40 ทีม แบ่งเป็น ปริญญาตรี/ปวส. จำนวน 10 ผลงาน และ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. จำนวน 30 ผลงาน ล้วนเป็นผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น แต่สิ่งจำเป็นคือการเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ให้เป็นนวัตกรรม ดังนั้น การตัดสินจึงพิจารณาจากความเป็นนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจของผลงาน รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำออกสู่การผลิตและจำหน่ายจริงเชิงพาณิชย์

ผลการตัดสินรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 

ระดับปริญญาตรี – ปวส.

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 -ได้รับโล่เกียรติยศ เกียรติบัตร และเงินรางวัล 20,000 บาท

  • ผลงาน รถปลูกต้นหอม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ผลงาน โปรตีนทดแทนจากหอยเชอรี่ และแป้งข้าวสังข์หยด จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  • ผลงาน แวววาล์ว อุปกรณ์ช่วยยึดติดลิ้นหัวใจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

ระดับมัธยมปลาย – ปวช. 

รางวัลชนะเลิศ – ได้รับถ้วยพระราชทานฯ โล่เกียรติยศ เกียรติบัตร เงินรางวัล 20,000 บาท และการสนับสนุนการประกวดในเวทีระดับนานาชาติ

  • ผลงาน แพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอด เลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 – ได้รับโล่เกียรติยศ เกียรติบัตร และเงินรางวัล 15,000 บาท

  • ผลงาน SVMR ตู้ยาเพื่อแจ้งเตือนและดูแลผู้สูงอายุ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
  • ผลงาน บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียน และชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจาก สมุนไพรไทย พร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสด จากดอกต้อยติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 – ได้รับโล่เกียรติยศ เกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท

  • ผลงาน เครื่องเลี้ยงกบอัตโนมัติ All in One จากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย

รางวัลชมเชย – ได้รับเกียรติบัตร

  • ผลงาน N-SPR : นวัตกรรมของเล่นเพื่อการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง “Chemistry for Forensic Science” จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

รางวัลพิเศษ Best Pitching Awards ได้รับสนับสนุนเงินรางวัลและการจัดอบรมพัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษภาคธุรกิจ โดย Education New Zealand 

รางวัลชนะเลิศ – ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

  • ผลงาน แพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอด เลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 – ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 6,000 บาท

  • ผลงาน บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียน และชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจาก สมุนไพรไทย พร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสด จากดอกต้อยติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 – ได้รับเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 4,000 บาท

  • ผลงาน SVMR ตู้ยาเพื่อแจ้งเตือนและดูแลผู้สูงอายุ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจอยากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยเปลี่ยนเยาวชนช่างคิดเป็นนักธุรกิจผู้สร้างสุดยอดนวัตกรรม สามารถติดตามโครงการได้ทางเพจ TIA: Thailand Innovation Awards และติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมเยาวชนที่ https://steam4i.nia.or.th รายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์: 088-014-8795 (คุณวรางคณา) หรือ Email: warangkana.t@nia.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *