นักวิจัย มทส. แนะเทคโนโลยีจัดเก็บสเต็มเซลล์ ทางเลือกการแพทย์สมัยใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา น้อยสา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และพัฒนานวัตกรรมด้วยเซลล์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)  เน้นย้ำประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บและผลิตสเต็มเซลล์ให้อยู่ในระดับที่พร้อมนำมาต่อยอดในการใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อโอกาสในการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาในอนาคตได้ใช้เซลล์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด และตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพและความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของประเทศ

เซลล์ต้นกำเนิดถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตเราได้ครับ โดยนิยามง่ายๆ ของสเต็มเซลล์คือเซลล์ที่ยังไม่ทำหน้าที่จำเพาะและจะสามารถเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เซลล์ต้นกำเนิดสามารถถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์ (Pluripotent stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัย (Adult stem cell) เป็นที่ยอมรับกันว่าเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์นั้นมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์อะไรก็ได้ในร่างกายและยังสามารถแบ่งเซลล์ตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยโดยส่วนใหญ่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้จำ กัดชนิดกว่า และไม่สามารถแบ่งเซลล์ตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างที่พบเห็นได้จากคุณลักษณะของเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์ หากแต่ว่าการศึกษาทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดกำเนิดพลูริโพเทนท์นั้นยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของปัญหาทางด้านความปลอดภัยในการใช้ในมนุษย์เนื่องจากความสามารถในการแบ่งตัวที่ไม่จำกัดจึงมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลังการปลูกถ่ายได้ ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยเป็นตัวเลือกที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกให้ความสนใจในการพัฒนาเซลล์ชนิดนี้เพื่อการรักษาโรค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา น้อยสา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และพัฒนานวัตกรรมด้วยเซลล์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า “ในร่างกายคนเรามีสเต็มเซลล์อาศัยอยู่ในเกือบทุกอวัยวะ โดยเฉพาะ สมอง กล้ามเนื้อ ตับ และระบบเลือด โดยสเต็มเซลล์ในอวัยวะเหล่านี้มีหน้าที่ในการซ่อมแซมเมื่อมีความเสื่อมหรือบาดเจ็บของอวัยวะนั้นๆ อย่างไรก็ตามสเต็มเซลล์ในร่างกายเราจะลดจำนวนลงเมื่อเรามีอายุที่มากขึ้น เราจึงจะเห็นว่าเมื่อเราสูงอายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของความเจ็บป่วยนี้ก็เกิดจากจำนวนสเต็มเซลล์ในร่างกายที่ลดจำนวนลงจนไม่สามารถซ่อมแซมร่างกายที่เสื่อมไปตามเวลาได้ จากคุณสมบัติพิเศษของสเต็มเซลล์และข้อจำกัดเรื่องจำนวนสเต็มเซลล์ที่ลดน้อยลงไปตามอายุที่มากขึ้นนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บสเต็มเซลล์ขึ้น เพื่อโอกาสในการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการช่วยชะลอวัยและรวมไปถึงการบำบัดรักษาโรคในอนาคตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การใช้เซลล์บำบัดเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ปลอดภัยและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกว่าเซลล์บำบัด คือ การใช้เซลล์ซ่อมเซลล์ ซ่อมแซมความเสื่อมของร่างกาย เข้าไปทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือตายไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้หลอดเลือดกลับมาแข็งแรงขึ้น จึงสามารถช่วยให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

“ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ที่มีประสิทธิภาพ นักวิจัยและห้องปฏิบัติการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันความผิดพลาดต่อผู้รับบริการและสามารถนำสเต็มเซลล์ไปใช้เพื่อการรักษาโรคในอนาคตได้อย่างปลอดภัย เช่น ถังแช่แข็งเก็บสเต็มเซลล์ควรจะควบคุมด้วยระบบ Automated Liquid Nitrogen ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อใช้ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ ในอุณหภูมิต่ำที่ -196 องศาเซลเซียส พร้อมระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถควบคุมและติดตามบันทึกระดับอุณหภูมิ ความชื้น และระดับน้ำยาแช่แข็งตลอด 24 ชั่วโมง และมีระบบฉุกเฉินในการสำรองน้ำยาแช่แข็งสเต็มเซลล์ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด นอกจากการจัดเก็บแล้วการคัดแยกและเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ให้แข็งแรง มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์บริสุทธิ์ที่รับสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เหมาะสม และได้สเต็มเซลล์ที่มีชีวิตที่สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างปลอดภัยเมื่อถูกปลูกถ่ายเข้าไปในร่างการผู้ป่วยในอนาคต สำหรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการจัดเก็บสเต็มเซลล์ก็เป็นปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการเลือกใช้บริการบริษัทจัดเก็บสเต็มเซลล์ ซึ่งควรได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างน้อยระบบคุณภาพการดำเนินการ ISO 9001:2015 และงานระบบห้อง Cleanroom เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคระหว่างการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์”  รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา น้อยสา กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *