วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เปิด Black Box Theater พื้นที่สร้างสรรค์พลังดนตรีไร้ขีดจำกัด

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เปิดพื้นที่ส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ทางดนตรี Black Box Theater เพียบพร้อมทั้งระบบ แสง สี เสียง ได้มาตรฐานสากล ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เปิดโลกแห่งการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติระดับมืออาชีพ ต่อยอด Soft Power ให้กับประเทศ

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และแขกผู้มาเกียรติ ร่วมพิธีเปิด Black Box Theater อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยห้องแสดงดนตรีที่ไร้ขอบเขตจินตนาการแห่งนี้ มุ่งพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยเฉพาะในสาขาวิชาเทคโนโลยีดนตรี (Music Technology) ที่ต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือระบบเสียง การจัดไฟ ออกแบบการแสดงดนตรีสด และสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) ที่ต้องการเวที ฝึกซ้อมและจัดแสดงในฐานะนักดนตรีเดี่ยวและวง

“Black Box Theater ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพให้มีจิตนาการสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด เพราะมีเครื่องมือ และอุปกรณ์เทียบเวทีการแสดงระดับสากล ให้ทดลองใช้ในการแสดง ที่สำคัญยังเป็นมาตรฐาน ต่อยอดให้กับ Soft Power ให้กับประเทศ ซึ่งจะมีนักดนตรีที่มีศักยภาพ มีนักดนตรีเก่งๆ  สู่เส้นทางอาชีพมากขึ้น เพราะมีเครื่องมือสนับสนุนที่เพียบพร้อม ” ดร.ณรงค์ กล่าวเติมถึงความโดดเด่นของ  Black Box Theater ซึ่งมีขนาด 25 x 20 เมตร สามารถปรับรูปแบบการแสดงได้ตามความคิดสร้างสรรค์ เป็นระบบที่วงการคอนเสิร์ตใช้กันอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบอะคูสติก ที่มีค่าความก้องเหมาะกับดนตรีประเภทป็อป  ด้วยเครื่องเสียงระดับโลก ทำให้ได้ยินเสียงที่เป็นมาตรฐานสากลจริงๆ เป็นประสบการณ์ชั้นดี ที่สามารถนำไปต่อยอดการทำงานในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนระบบภาพมีความทันสมัยด้วยการใช้ Projector Mapping ด้วยโพรเจกเตอร์ 3 เครื่อง ฉายบนจอขนาดใหญ่ สามารถปรับเป็นจอโค้งได้ ระบบไฟ สำหรับงานคอนเสิร์ต หมุนเคลื่อนไหวและย้อมเปลี่ยนสีได้ตามต้องการ พร้อมด้วยระบบรอก ย้ายตำแหน่ง ฉาก ลำโพง ส่วนที่นั่ง และเวที ที่มีความยืดหยุ่นเลื่อนพับเก็บหรือขยายได้  ที่นี่จึงเหมาะทั้งเป็นคอนเสิร์ตฮอลล์ โรงภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ เวิร์กช็อปงานดนตรี

“เรียกได้ว่าที่นี่ เป็นทั้งห้องทดสอบ และส่งเสริมพัฒนาการ การแสดงที่สมบูรณ์แบบ ก่อนที่จะนำไปขยายผลในการแสดงบนเวทีจริง ทั้งยังเป็นพื้นที่จำลอง ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาในสายงานที่เชื่อมโยงกัน ได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ลงมือปฏิบัติงานกับอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานในการจัดแสดงคอนเสิร์ตจริง เทียบเท่าเวทีระดับสากล และยังเปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้งาน ในช่วงปิดภาคการศึกษา ค่ายเพลงสามารถติดต่อเข้ามาใช้ เพื่อให้ศิลปินมาซ้อมก่อนขึ้นแสดงจริงได้”

นอกจากนี้ Black Box Theater ยังได้ติดตั้งลำโพงตามองศาการกระจายเสียงเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้ยินเสียงเท่ากัน สามารถจุผู้ชมเต็มพื้นที่ได้ราว 300 คน นอกจากนี้ยังมี White Box Theater ห้องแสดงเล็กขนาด  15 x 10 เมตร จุผู้ชมได้ราว 50 คน ภายในติดตั้งระบบเสียง ภาพ และไฟ ที่ได้มาตรฐานสากลเช่นเดียวกัน มีห้องพักนักแสดง พื้นที่ backstage สำหรับเตรียมฉาก และอุปกรณ์

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานในพิธี ได้กล่าวเสริมว่า “Black Box Theater คือนวัตกรรม ที่นำมาส่งเสริมการฝึกซ้อมที่น่าภาคภูมิใจ ให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ ในสายดนตรีให้มีโอกาสได้พัฒนาทักษะ ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย เทียบเท่าสากล นี่คือวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหาร ที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิตผลงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยการจัดแสดงจริง  เป็นการเพิ่มพูนทักษะในทางปฏิบัติ นอกเหนือจากการเรียนทางทฤษฎี นักศึกษาสามารถฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มศึกษาไปสู่การทำงาน เชื่อว่าที่นี่ จะเป็นห้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  ให้กับนักศึกษาสายดนตรีก้าวสู่เส้นทางอาชีพ ที่มีศักยภาพ”

ซึ่งในโอกาสนี้  คุณหญิงปัทมา ยังได้มอบทุน“กองทุนเปรมดนตรี” เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านดุริยางคศาสตร์ ประจำปี 2566 ให้กับนักเรียน นักศึกษา รวม 13 ทุน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *