ชวนทุกคนมารู้จักกับ “พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย” ณ วังจันทรเกษม

เพื่อน ๆ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่ากระทรวงศึกษาธิการนั้นมีหน้าที่ส่งเสริม กำกับดูแลการศึกษาให้กับประชาชน แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าภายในกระทรวงศึกษาธิการแห่งนี้ที่นอกจากจะเป็นสถานที่ทำงานของบุคลากรทางการศึกษาแล้วนั้น ยังมีสถานที่สำหรับการเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับชมได้ ซึ่งก็คือ “พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย” นั่นเองค่ะ

“พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย” ตั้งอยู่ที่วังจันทรเกษม ภายในอาคารราชวัลลภ อาคารโบราณสถานที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 ปัจจุบันมีอายุกว่าร้อยปี ซึ่งอยู่ภายในรั้วกระทรวงศึกษาธิการ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในครั้งที่มีการบูรณะอาคารเมื่อปี พ.ศ. 2559 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่บอกเล่าพัฒนาการการศึกษาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงจัดแสดงโบราณคดีที่เกี่ยวกับการศึกษาต่าง ๆ ไว้อย่างมากมาย

เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ จะพบกับโถงต้อนรับเป็นส่วนแรกซึ่งเป็นส่วนกลางของพิพิธภัณฑ์ ภายในห้องมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของอาคารราชวัลลภ สื่อการเรียนการสอนในอดีต และถัดจากโถงต้อนรับก็จะมีห้องจัดแสดงอยู่ทั้งหมด 6 ห้อง ได้แก่ ห้องนิทรรศการ, ห้องสมุดเฉพาะ, ห้องพัฒนาการศึกษาไทย, ห้องเรียนจำลองในสมัยร.5, ห้องพระมหากรุณาธิคุณ, และห้องเสนาบดี

1. ห้องนิทรรศการ

ภายในห้องจะเป็นส่วนที่จัดแสดงสมุด หนังสือ และของโบราณคดีต่าง ๆ โดยสิ่งของสำคัญในห้องนี้ก็คือ “แบบเรียนจินดามณี” แบบเรียนไทยเล่มแรก ซึ่งจัดแสดงอยู่ในส่วนด้านหน้าสุดของห้องนิทรรศการ

นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่น ๆ อาทิเช่น แบบเรียนทั้ง 5 สาขาวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยคัดเลือกจากคลังหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการนำมาจัดแสดง แบบเรียนภาษาอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเอกสารอื่น ๆ อีกมากมาย

2. ห้องสมุดเฉพาะ

เป็นห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและเอกสารการเรียนรู้ด้านการศึกษา เช่น หนังสือชุดความรู้ที่พระราชทานจัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสำคัญ บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือความรู้ที่ใช้เป็นหลักอ้างอิง หนังสือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง

ภายในห้องมีความสวยงามและมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือ มีโต๊ะ เก้าอี้ และโคมไฟในทุกที่นั่งเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดคอยให้บริการอยู่ภายใน

3. ห้องพัฒนาการศึกษาไทย

เป็นห้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการการศึกษาของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ไปจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงมีต่อการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ในส่วนไฮไลท์ของห้องนี้ที่พลาดไปไม่ได้เลยคือ “ศิลาจารึกจำลองหลักที่ 1” ในสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดอยู่ภายในห้อง เป็นศิลาจารึกจำลองที่ใช้ระบบมัลติมีเดียมาประกอบการจัดแสดง มีเนื้อหาเกี่ยวกับลายสือไทยและความหมาย

นอกจากนี้ยังมีโซนตราประทับลายสือไทยให้ทุกคนได้เรียนรู้ลักษณะของลายสือไทยเปรียบเทียบกับพยัญชนะไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงลำดับการเรียงร้อยลายสือไทยว่ามีวิธีเรียงลำดับการเขียนอย่างไรบ้าง

4. ห้องเรียนจำลองในสมัยร.5

เป็นการจำลองบรรยากาศห้องเรียนในสมัยโบราณ โดยเซ็ตบรรยากาศให้เสมือนกับห้องเรียนจริง มีเสียงบรรยายอิเล็กทรอนิกส์ประกอบซึ่งเป็นเสียงครูมิชชันนารีสาว มีโต๊ะ และอุปกรณ์การเรียนในสมัยอดีตเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับบรรยากาศการเรียนการสอนอย่างสมจริง

5. ห้องพระมหากรุณาธิคุณของราชสกุลมหิดลกับการศึกษาไทย

ภายในห้องมีการนำเสนอพระมหากรุณาธิคุณของราชสกุลมหิดลที่ทรงมีคุณูประการต่อการศึกษาไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ถึงรัชกาลที่ 10 และจัดแสดงวิดีทัศน์เรื่องศาสตร์พระราชา ความรู้เกี่ยวกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังมีการจัดแสดงตัวอย่างวัตถุ เครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียนพระราชทานอยู่ภายในห้อง

6. ห้องเสนาบดี

เป็นห้องที่บรรยายถึงประวัติและพัฒนาการของกระทรวงศึกษาธิการ มีรายชื่อเสนาบดีกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการจัดแสดงโต๊ะทำงานของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ซึ่งเป็นเสนาบดีคนสำคัญของกระทรวงอยู่ภายในห้อง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีได้ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30-16:30 น.

เลขที่ 319 อาคารราชวัลลภกระทรวงศึกษาธิการ วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://news.trueid.net/detail/348nlBLJzBV7

https://commonmuze.com/node/500

https://youtu.be/zoBEGojTRHM

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *