16 มกราคมของทุกปี วันครูขามาอย่างไร?

วันครูขา มาอย่างไร? - ประวัติที่มาก่อนจะเป็นวันครู พร้อมทั้งคำขวัญประจำวันครูย้อนหลังกว่า 40 ปี!
16 มกราคมของทุกปี วันครูขามาอย่างไร?

 

เมื่อเดือนมกราวนกลับมาอีกครั้ง นอกจากวันขึ้นปีใหม่ และวันที่ให้ความสำคัญกับน้อง ๆ อย่างวันเด็กแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญที่กำลังใกล้เข้ามา น้อง ๆ พอจะเดากันได้ไหมคะว่าวันอะไร พี่ออมขอใบ้ว่าวัน ๆ นี้เป็นวันซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความสำคัญต่อการอบรม สั่งสอนพวกเราทุกคนให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ รวมไปถึงพี่ออมเองเช่นกันค่ะ พอจะเดากันได้แล้วใช่ไหมคะว่าวันที่พี่ออมพูดถึงคือวันอะไร ใช่แล้วค่ะ วัน ๆ นั้นก็คือวันครูนั้นเอง

 

คำว่า “ครู” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) ให้ความหมายคำว่า ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ จริง ๆ แล้วนะคะ แนวคิดการเฉลิมฉลองในวันครูเริ่มต้นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งจะเป็นวันที่เฉลิมฉลอง หรือมีเหตุการณ์สำคัญทางการศึกษาเกิดขึ้นทำให้วันครูในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป แต่วันครูตามหลักสากลหรือวันครูโลกจะตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เพื่อสร้างมาตรฐานและสวัสดิการของครู ตลอดจนเพื่อจัดรูปแบบของการศึกษาให้เหมาะสมตามการประชุมสัมนาทางการศึกษานานาชาติขององค์การยูเนสโกค่ะ

 

ส่วนวันครูของประเทศไทยนั้น ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี สืบเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2488 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติครูในพระราชกิจจานุเบกษา โดยจัดตั้งสภานิติบุคคลในกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ชื่อ “คุรุสภา” โดยมีจุดประสงค์ในการรวบรวมคุณครูมาเพื่อเสนอความคิดเห็นหรือแนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อสถาบันวิชาชีพครู ตลอดจนเรื่องของนโยบายการศึกษาและวิชาการทั่วไป อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการดำเนินงานในคุรุสภา โดยจะดำเนินการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปีที่หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเปลี่ยนมาเป็นหอประชุมคุรุสภา

ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีเล็งเห็นความสำคัญของอาชีพครู ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมทั่วประเทศว่า “เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอิฐของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากการปราศรัยในครั้งนี้รวมกับความส่งเสริมและเรียกร้องอย่างท่วมท้นของบุคลกรทางการศึกษา ส่งผลทำให้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 มีมติกำหนดให้ทุกวันที่ 16 มกราคม เป็นวันครูแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้นักเรียน นักศึกษาและครูหยุดในวันดังกล่าวหรืออาจมีการจัดกิจกรรม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ศิษย์ได้ระลึกถึงบุญคุณ ผู้เป็นแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ สั่งสอนให้ความรู้เพื่อให้นักเรียนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่และดำเนินชีวิตอยู่บนคุณงามความดี

การจัดงานวันครู เริ่มต้นครั้งในปี พ.ศ.2500 ณ กีฑาสถานแห่งชาติ โดยมีการกำหนดหลักการในวันครูให้มีอนุสรณ์สำคัญ คือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่คนรุ่นหลังซึ่งแตกต่างจากวันครูในปัจจุบัน โดยเป็นกิจกรรมที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยมีพิธีปฏิญานตน รวมไปถึงการกล่าวระลึกถึงพระคุณของครู
3. กิจกรรมจัดเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู อาจจะเป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ

 

อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับวันครูของไทยก็คงไม่พ้นคำขวัญค่ะ คำขวัญเป็นข้อความที่แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจ เพื่อให้กำลังใจ และเพื่อให้เป็นสิริมงคล มักเป้นข้อความสั้น ๆ โดยคำขวัญประจำวันครูเริ่มมีภายหลังจากมีการจัดงานวันครูแล้ว โดยในสมัยก่อนจะเป็นคำขวัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภาซึ่งในยุคต่อมาจะเป็นคำขวัญที่บุคคลทั่วไร่วมส่งเข้าประกวด วันนี้พี่ออมจะพาทุกคนย้อนรอยคำขวัญวันครูไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 กันเลยค่ะ

 

พ.ศ. 2521 : “การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลาย ๆ ด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและในราชการ ขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน และขอได้โปรดตระหนักถึงหน้าที่ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียนประเพณีของครูที่ดีสืบไป” โดยนายแพทย์บุยสม มาร์ติน
พ.ศ. 2522 : “เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมครู” โดยดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
พ.ศ. 2523 : “ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จีงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป” โดยดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์
พ.ศ. 2524 : “ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผน อันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย” โดยดร.สิปปนนท์ เกตุทัต
พ.ศ. 2525 : “ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จีงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป” โดย ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
พ.ศ. 2526 : “อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน” โดยดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
พ.ศ. 2527 : “ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด” โดยนายชวน หลีกภัย
พ.ศ. 2528 : “การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดี มีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจ เมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครูทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิดผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป” โดยนายชวน หลีกภัย
พ.ศ. 2529 : “ครู คือ ผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย” โดยนายชวน หลีกภัย
พ.ศ. 2530 : “ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี” โดยนายมารุต บุญนาค
พ.ศ. 2531 : “ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี” โดยนายมารุต บุญนาค
พ.ศ. 2532 : “ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย” โดยพลเอกมานะ รัตนโกเศศ
พ.ศ. 2533 : “ครู คือ ผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี” โดยพลเอกมานะ รัตนโกเศศ
พ.ศ. 2534 : “ครู คือ ผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี” โดยพลเอกมานะ รัตนโกเศศ
พ.ศ. 2535 : “ครู คือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ” โดยดร.ก่อ สัวสดิ์ พาณิชย์
พ.ศ. 2536 : “ครู คือ นักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม” โดยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร
พ.ศ. 2537 : “ครู คือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี” โดยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร
พ.ศ. 2538 : “อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี” โดยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร
พ.ศ. 2539 : “ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน” โดยนายสุขวิช รังสิตพล
พ.ศ. 2540 : “ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและน้ำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา” โดยนายสุขวิช รังสิตพล
พ.ศ. 2541 : “ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี” โดยนายชุมพล ศิลปอาชา
พ.ศ. 2542 : “ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู” โดยนายปัญจะ เกสรทอง และ นางเซียมเกียว แซ่เล้า
พ.ศ. 2543 : “ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี?สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา” โดยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ นายประจักษ์ เสตเตมิ
พ.ศ. 2544 : “พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู” โดยนางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์
พ.ศ. 2545 : “สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู” โดยนายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี
พ.ศ. 2546 : “ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู” โดยนางสมปอง สายจันทร์
พ.ศ. 2547 : “ครู คือ พลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู” โดยนางสาวพรทิพย์ ศุภกา
พ.ศ. 2548 : “ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นดินศรัทธาบุชาครู” โดยนายประจักษ์ หัวใจเพชร
พ.ศ. 2549 : “ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู” โดยนางพรรณา คงสง
พ.ศ. 2550 : “สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู” โดยนางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์
พ.ศ. 2551 : “ครูของแผ่นดิน เลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพล ชนบูชา” โดยนางพงษ์จันทร์ สุขเกษม
พ.ศ. 2552 : “ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู” โดยนางนฤมล จันทะรัตน์
พ.ศ. 2553 : “น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที” โดยนายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์
พ.ศ. 2554 : “เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล” โดยนางกนกอร ภูนาสูง
พ.ศ. 2555 : “บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล” โดยนางสาวขนิษฐา อุตรโส
พ.ศ. 2556 : “แปดสิบพรรษา พระราชินี ราษฏร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน” โดยนายสะอาด สีหภาค
พ.ศ. 2557 : “เทิดพระเกียรติทั่วหล้า กตัญญูบูชา แม่และครูแห่งแผ่นดิน” โดยนายธีธัช บรรณะทอง
พ.ศ. 2558 : “เกียรติครูยิ่งใหญ่ น้อมใจบูชา เลิศล้ำคุณค่า ศรัทธาพระคุณ” โดยเด็กหญิงอนุสรา ชื่นบาล จังหวัดอ่างทอง
พ.ศ. 2559 : “อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ เจ้าของคำขวัญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ศ. 2560 : “ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้ง ในพระคุณครู” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ศ. 2561 : “ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ศ. 2562 : “ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ศ. 2563 : “ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พ.ศ. 2564 : “ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์ คุณธรรม ประจำชาติ” โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

.

เป็นไงกันบ้างคะหลังจากที่ได้ทราบประวัติอันยาวนานของวันครูแบบนี้แล้ว น้อง ๆ ต้องระวังสับสันกันระหว่างวันครูซึ่งเป็นวันที่พี่ออมเพิ่งพูดถึงไปกับวันไหว้ครูที่น้อง ๆ อาจจะคุ้นชินกับพิธีการไหว้ถือพานไหว้ครูทั้งสองวันนี้นับเป็นคนละวันกันค่ะ วันไหว้ครูนั้นจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนถุนายนของทุกปี ไม่ใช่วันที่ 16 มกราคมค่ะ สุดท้ายนี้พี่ออมก็ขอให้น้อง ๆ ทุกคนเห็นความสำคัญและเป็นเด็กดีของคุณครูในทุก ๆ วันไม่ใช่แค่วันครูวันเดียวนะคะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *