สับสน หาตัวเองไม่เจอ ทำอย่างไรดี?

แน่นอนว่าใครหลาย ๆ คนอาจเคยได้รับคำถามจากญาติผู้ใหญ่หรือคนรอบข้างว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” บางคนโชคดีที่หาตัวเองเจอตั้งแต่แรก ๆ จึงตอบคำถามได้ไม่ยากนัก แต่บางคนก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าตนเองนั้นชอบอะไร อยากเรียนทางด้านไหน หากถึงวัยทำงานแล้วจะไปทำอาชีพอะไรดี

เมื่อถึงเวลาที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับคำถามดังกล่าวก็ไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่าสรุปแล้วเรานั้นอยากเป็นอะไร ซ้ำร้ายบางคนเมื่อเจอคำถามนี้ก็ถึงขั้นที่เก็บไปคิดมาก และด้อยค่าตนเองอย่างหนัก หรือบางคนก็อาจเกลียดคำถามดังกล่าวไปเลยก็ว่าได้

ถึงอย่างไรนั้นการหาตัวเองไม่เจอก็ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิด จงพึงระลึกไว้เสมอว่าชีวิตคือการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเจอตัวเองช้าแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรที่สายเกินไปอย่างแน่นอน

แต่เมื่อไหร่ที่คุณต้องการค้นพบ “ตัวตน” ของตนเอง ลองให้เวลาตัวเองได้ทำสิ่งเหล่านี้ดู

สำรวจตนเองบ่อย ๆ

หากยังไม่แน่ใจว่าเราชอบอะไร ก็ให้เริ่มจากการสังเกตตัวเองในแต่ละวันว่าทุกวันนี้เรามีความสุขกับการทำสิ่งไหน มีอะไรบ้างที่เรารู้สึกว่าสามารถทำมันได้ดี หรืออาจจะใช้วิธีสังเกตลักษณะนิสัยต่าง ๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ชอบติดต่อพบปะกับผู้คนหรือไม่ ชอบทำงานเบื้องหลังหรือเบื้องหน้า ชอบเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ตาม เป็นต้น เพราะลักษณะนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จะพาเราไปสู่คำตอบที่ว่าความจริงแล้วเราชอบอะไร

ถามผู้มีประสบการณ์

หากมีคนรู้จักที่กำลังเรียนหรือทำงานในด้านที่เราสนใจ ให้เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดการทำงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้เรามีความรู้ความเข้าใจในงานนั้น ๆ มากขึ้น     สิ่งสำคัญที่พลาดไปไม่ได้เลยคือควรสอบถามถึงข้อเสียของการทำงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะเราสามารถนำข้อเสียมาชั่งน้ำหนักกับตนเองได้ว่าเราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ไหมหากต้องทำมางานนี้จริง ๆ

ให้โอกาสตนเองด้วยการลองผิดลองถูก

อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้ค้นหาตนเองเจอ คือการลองพาตนเองเข้าไปเรียนรู้กับสิ่งต่าง ๆ ให้มาก เพราะจะช่วยให้เราได้เผชิญกับสถานการณ์จริง ณ ตรงหน้า และทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่าต้องใช้ทักษะทางด้านใด และเราถนัดการทำงานในด้านนี้หรือไม่ หากยังอยู่ในวัยเรียน ก็สามารถทำได้โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางสถานศึกษาจัดขึ้น หรือถ้าหากก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ก็ลองเปิดโอกาสให้ตนเองได้เข้าไปทำในสายงานอื่น ๆ ดูบ้าง เชื่อว่าการทำสิ่งนี้จะช่วยให้ทุกคนได้เจอสิ่งที่ชอบไว ๆ อย่างแน่นอน หรือถ้าหากยังไม่เจอ ก็ให้คิดว่าอย่างน้อยเราก็ได้รู้แล้วว่าสิ่งที่ไม่ชอบนั้นคืออะไร จะได้ตัดตัวเลือกดังกล่าวออกไปจากชีวิต

ทำแบบประเมินตนเอง

นอกจากนี้เรายังสามารถต้นหาตนเองได้จากการทำแบบประเมินต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราเห็นภาพความชอบของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือแบบทดสอบที่ทาง eduzones สร้างขึ้นมา โดยอ้างอิงจาก “ทฤษฎีการเลือกอาชีพ” ของ จอห์น แอล ฮอลแลนด์ (John L. Holland) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งมีผู้ใช้มาแล้วมากกว่า 10 ล้านครั้ง

โดยเขาได้บอกว่าอาชีพกับบุคลิกมีความสอดคล้องกัน เขาเชื่อว่าคนเราจะมีความสุขและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อพวกเขาเลือกอาชีพที่ตรงกับบุคลิกและนิสัยของตัวเอง แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

1. บุคลิกภาพแบบจริงจัง (Realistic) เป็นคนที่ชอบเกี่ยวกับการควบคุม ซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สนใจคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการแก้โจทย์ปัญหา สิ่งที่ไม่ชอบคืองานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะเป็นคนขี้อายและขี้เกรงใจ จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว ในอีกแง่ก็เป็นคนที่ไม่เพ้อฝัน หนักแน่น จริงจัง และคล้อยตามระบบกฎเกณฑ์ จุดอ่อนของคนที่มีบุคลิกนี้คือการขาดทักษะทางสังคม

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ วิศวกร ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ ช่างสำรวจ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างตัดเสื้อ ช่างก่อสร้าง นักประมง นักกีฬา นักประดาน้ำ นักประดิษฐ์วัสดุ ครูสอนการเกษตร ครูสอนอุตสาหกรรมศิลป์

2. บุคลิกภาพแบบการใช้ปัญญาและความคิดแบบนักวิชาการ (Investigative) เป็นคนที่ชอบวิเคราะห์และการประเมิน ช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็นและสงสัยในสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง มีเหตุผล รอบคอบ ชอบแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และสนใจการจัดการและการวางแผนงาน ไม่ชอบการเข้าสังคมมากนัก

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์ แพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักสถิติ นักวิทยาศาสตร์นักเคมี นักวิชาการ นักวิจัย ครูสอนคณิตศาสตร์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดี นักธรณีวิทยา นักสืบมวลชน

3. บุคลิกภาพแบบศิลปิน (Artist) เป็นคนชอบแสดงออก รักอิสระ ช่างคิดช่างฝัน มักจะมีอุดมคติที่ตนเองวาดไว้อยู่เสมอ ส่วนสิ่งที่คนประเภทนี้ไม่ชอบคือการตามคำสั่งหรืออยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้อื่น ไม่ชอบความจำเจหรือสิ่งที่มีกฎระเบียบแน่นอน คนประเภทนี้จะมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย มีทักษะความสามารถด้านศิลปะ แต่จะขาดทักษะทางสำนักงาน

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ นักโฆษณา นักดนตรี ครูสอบดนตรี นักแสดง นาง-นายแบบ ผู้กำกับการแสดง ครูสอนภาษา ผู้สื่อข่าว นักปรัชญา จิตรกร สถาปนิก นักแต่งเพลง นักประดิษฐ์ ช่างภาพ นักเต้นรำ

4. บุคลิกภาพแบบบริการสังคม (Social) เป็นคนที่รักทำงานร่วมกับผู้อื่น ชอบการช่วยเหลือ เข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ดี กล้าแสดงออก มักจะให้แนะนำหรือพูดให้ความรู้กับผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นคนร่าเริงแจ่มใสและเข้าถึงง่าย แต่จะชอบให้ตนเองมีอำนาจเหนือผู้อื่นและไม่ชอบทำตามคำสั่งของใคร

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ ครู-อาจารย์ นักวิชาการ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ล่าม ผู้จัดการ บรรณารักษ์ นักสังคมวิทยา นักแนะแนว มัคคุเทศก์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่งานบุคคล นักฝึกอบรม ทูต

5. บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ (Enterprising) เป็นคนที่ชอบกิจกรรมที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ชอบใช้ทักษะการพูด ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ มักจะชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เชื่อมั่นในตนเอง ชอบการแข่งขัน กล้าคิดกล้าทำ มีความทะเยอทะยานสูง ชอบการแข่งขัน คล่องแคล่วว่องไว เป็นผู้นำ

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ นักธุรกิจ นักการตลาด นายธนาคาร นักบริหาร แอร์โฮสเตส ผู้ขายประกันชีวิต นายหน้าซื้อขาย ผู้จัดการ นักการเมือง ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ที่ปรึกษาทางธุรกิจ โฆษก

6. บุคลิกภาพแบบยึดมั่น และระเบียบแบบแผน (Conventional) เป็นคนที่ชอบทำงานเกี่ยวกับตัวเลข ชอบบทบาทการเป็นผู้ตาม ไม่ชอบเป็นผู้นำและมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องปะทะหรือโต้แย้งกับผู้อื่น เป็นคนเจ้าระเบียบ อนุรักษ์นิยม ไม่ชอบเป็นผู้ริเริ่มและขาดจินตนาการ ข้อดีของคนประเภทนี้คือจะจริงจังกับงาน มีความอดทนและมีความรับผิดชอบสูง ไว้ใจได้

อาชีพที่เหมาะสมกับคนประเภทนี้จึงได้แก่ นักบัญชี เลขานุการ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่งานพัสดุ ผู้ช่วยบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ผู้คุมสต็อกสินค้า ผู้ควบคุมเครื่องยนต์ พนักงานไปรษณีย์

สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่เว็บไซต์ http://ez.eduzones.com/test/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *