5 เทคนิคฝึกฝนความจำ แบบฉบับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก และยังเป็นผู้คิดค้นสมการ E=mc2 สมการที่ปรากฏในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity Theory) ซึ่งล้มล้างแนวคิดเรื่องเวลาและอวกาศของนิวตันที่เป็นที่ยอมรับในขณะนั้น สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรากฐานวงการฟิสิกส์จวบจนถึงปัจจุบัน

เขาเคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญความรู้” นั่นก็เป็นเพราะว่าในการจะลงมือทำแต่ละอย่าง เขามักจะใช้จินตนาการร่วมด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไอน์สไตน์สามารถสร้างผลงานที่มีคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติอย่างมากมาย และแน่นอนว่าแม้แต่การจดจำเขาก็ใช้ทักษะนี้ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “รอน ไวท์” นำเทคนิคการจดจำด้วยการใช้จินตนาการมาปรับใช้กับตนเอง จนทำให้เขาสามารถชิงแชมป์การแข่งขันความจำของประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นวิทยากรชื่อดังด้านการฝึกฝนความจำที่ ใคร ๆ ก็อยากฝากตัวเป็นศิษย์

โดยเขาได้เรียบเรียงขั้นตอนการฝึกฝนความจำซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของไอน์สไตน์ มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.ชัดเจน (Focus)

ก่อนที่จะเริ่ม เราต้องทำให้ตนเองรู้สึกสนใจในสิ่งที่ต้องการจดจำก่อน จากนั้นจึงกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราต้องการจำนั้นคืออะไร และมีส่วนไหนที่โดดเด่นบ้าง สิ่งสำคัญของขั้นตอนนี้เลยคือการหา “จุดเด่น” เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราจดจำสิ่ง ๆ นั้นได้ง่ายขึ้น

2. บันทึก (Files)

ความจริงแล้วคนเราสามารถจดจำเรื่องราวได้เป็นจำนวนหลายเรื่องมาก แต่ปัญหามักจะอยู่ที่วิธีการจัดเก็บความทรงจำ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้แนวทางการจัดเก็บความทรงจำที่ถูกต้อง หากคุณอยากเรียกข้อมูลกลับมาใช้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จะต้องบริหารจัดการความทรงจำให้เป็นระเบียบ เปรียบเสมือนการสร้างโฟลเดอร์ไว้ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หาไฟล์ได้อย่างสะดวก

ตัวอย่างเช่นหากต้องการจำชื่อเพื่อนรวมชั้นจำนวน 10 คน ให้เริ่มจากจำสิ่งของรอบโต๊ะให้ได้ก่อน (เพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย) จากนั้นจึงจับคู่สิ่งของต่าง ๆ กับชื่อเพื่อน โดยชื่อเรียกควรมีความคล้ายคลึงกันทั้งคู่ จะทำให้ง่ายต่อการจดจำ

3. ภาษาภาพ (Pictures)

เคยได้ยินไหมว่าสมองคนเราจดจำเป็นภาพได้ดีกว่าตัวอักษร หากเราลืมคำพูดหรือข้อความอะไรแล้วคิดกลับไปเป็นภาพที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้เราจำสิ่งนั้น ๆ ได้ เพราะวิธีดังกล่าวเป็นการใช้จินตนาการมาเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิด ทำให้การจดจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้ผลมากกว่าการท่องซ้ำ ๆ วนไปวนมาอย่างแน่นอน

4. ติดตรึง (Glue)

การจะจดจำบางสิ่งบางอย่างได้ดี สิ่งเหล่านั้นต้องมีความโดดเด่นเพียงพอที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำและมีผลต่อความรู้สึกของตนเอง ดังนั้นภาพที่สร้างขึ้นมาจะต้องเป็นภาพที่มีความโดดเด่นและให้ความรู้สึกร่วม เมื่อนึกย้อนกลับไปแล้วจะต้องเห็นภาพนั้นได้อย่างทันที

5. ทบทวน (Review)

การทบทวนสิ่งที่จดจำอย่างสม่ำเสมอเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้สามารถจำสิ่งต่าง ๆ ได้ในระยะยาวโดยไม่ลืม แต่ถ้าหากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปเฉย ๆ โดยไม่มีการทบทวนก็จะทำให้ความจำเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นลดลง และก็จะลืมไปในที่สุด ดังนั้นเราจึงควรคิดย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่ต้องจำบ่อย ๆ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.ohlor.com/วิธีการจำแบบ-albert-einstein/

https://www.prosofthcm.com/Article/Detail/16171/5-ขั้นตอน-สู่การจำแบบ-ไอน์สไตน์

https://learninghubthailand.com/5-tips-upgrade-your-brain-like-einstein/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *